หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจสังคมไทย ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้ประชาชนแบบเบ็ดเสร็จเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นจริง บทความนี้จะนำเสนอภารกิจแก้หนี้ประชาชน โดยเฉพาะหนี้เช่าซื้อรถยนต์ซึ่งผู้มีรายได้น้อยใช้เพื่อประกอบอาชีพหรือใช้เพื่อการเดินทาง และประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอ และไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
แผลเก่าหนี้ครัวเรือนสูง และแผลใหม่จากวิกฤตโควิด 19
หนี้ครัวเรือนไทยแขวนตัวอยู่สูง (Debt Overhang) ถือเป็นแผลเก่าของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ในระดับจุลภาคสะท้อนว่าครัวเรือนจะมีเงินออมอยู่ในระดับต่ำสำหรับใช้ในอนาคต ขณะที่ในระดับมหภาค หากระดับครัวเรือนไม่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ส่งผลให้รัฐต้องเพิ่มสวัสดิการสังคม ซึ่งจะสร้างภาระทางการคลังของประเทศ และในที่สุดจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของการบริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมทั้งต่อประสิทธิผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
งานศึกษาที่ผ่านมาจากข้อมูลของเครดิตบูโร (National Credit Bureau :NCB)[1] [2] [3] (สันติประภพ, 2021 และจันทรัตน์และคณะ, 2017a, 2017b) ซึ่งไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น ได้ข้อสรุปว่า ครัวเรือนไทยมีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอลง และมีพฤติกรรมการก่อหนี้ใน 4 ลักษณะคือ หนึ่ง “เป็นหนี้อายุน้อยลง” สอง “มียอดหนี้ต่อหัวสูงขึ้น” สาม “เป็นหนี้นานขึ้น” และสี่ “มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง” สะท้อนถึงการขาดภูมิคุ้มกันทางการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะความผันผวนของสภาวะภูมิอากาศและโรคระบาด เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ครัวเรือนไทยในระดับฐานรากยังพึ่งพาหนี้นอกระบบในระดับสูง และหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภคเติบโตเร็ว ซึ่งหนี้กลุ่มนี้ที่มีภาระผ่อนส่งสูง เห็นชัดในช่วงปี 2554-2556 จากนโยบายจูงใจให้คนซื้อรถคันแรกหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่
ล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยทั้งระบบ 14.13 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้และครัวเรือนแบกรับภาระจ่ายหนี้ผ่อนส่งสูง โดยหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของหลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกขยับสูงขึ้น โดยของไทยเร่งตัวขึ้นมากจากทั้งมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่หดตัว[4] เปรียบเสมือนสร้างบาดแผลใหม่ หรือซ้ำเติมแผลเก่าให้ลึกและกว้างขึ้น
หนี้เช่าซื้อรถยนต์: ปัญหาเดิมและลูกหนี้ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด 19
ในมิติการเงิน ณ สิ้นปี 2563 “สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท (ภาพ 1) รวม 6.6 ล้านบัญชี หรือร้อยละ 17 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของแบงค์ชาติ (1.2 ล้านล้านบาท) และอีกครึ่งหนึ่งโดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
(Non-banks) ในด้านคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อพบว่ามีความเปราะบางมากขึ้น โดยมีสินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือนซึ่งเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น ในมิติกฎหมาย สถิติคดีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เข้าสู่ชั้นศาลในปี 2563 จำนวนถึง 8 หมื่นคดี สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 หรือร้อยละ 10 ของคดีผู้บริโภคทั้งหมดที่เข้าสู่ศาล
ในมิติเศรษฐกิจและสังคม วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลงมาก กระทบต่อเรื่องปากท้อง ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว กลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มคนขับรถยนต์รับจ้างและจักรยานยนต์รับจ้างมีรายได้เฉลี่ยเหลือเพียงร้อยละ 10-40 [5] ซึ่งแรงงานก็ได้ปรับตัวทุกด้านทั้งขอรับเงินเยียวยา ใช้เงินเก็บออม กู้เงินนอกระบบ จำนำและปรับเปลี่ยนอาชีพ [6] และในภาวะยากลำบากนี้ทำให้ไม่สามารถผ่อนรถต่อไปได้ และบางกรณีอาจถูกยึดรถไปในที่สุด
ภารกิจแก้หนี้เช่าซื้อ: บรรเทาความเดือนร้อน ให้ความรู้และความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้
แบงค์ชาติ (ดูแลสถาบันการเงินและบริษัทเช่าซื้อในเครือ) ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) (ดูแลสัญญาเช่าซื้อมาตรฐาน) กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม (ดูแลการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง) และสำนักงานศาลยุติธรรม (ดูแลคดีความเช่าซื้อ) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือให้พักชำระค่างวด สรุปดังนี้ (ภาพ 2)
(1) กลุ่มที่รถยังไม่ถูกยึดทุกสถานะ (กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือกลุ่มที่เป็น NPL แต่รถยังไม่ถูกยึด) สามารถขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 3 และกรณีที่ได้รับผลกระทบสามารถขอพักชำระค่างวดได้ โดยอาจมีการเก็บดอกเบี้ยช่วงพักจากฐานค่างวดที่พัก หรือหากกรณีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหรือประเมินแล้วไม่สามารถผ่อนต่อได้ ก็สามารถคืนรถเพื่อขายทอดตลาดและคำนวณยอดหนี้ส่วนขาด (ติ่งหนี้) ตามวิธีที่เป็นธรรมและผ่อนปรน
(2) กลุ่มที่ถูกยึดรถแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ก็มีโอกาสได้รถคืนเพื่อใช้ประกอบอาชีพ โดยสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้และขอผ่อนชำระต่อไป
(3) กลุ่มที่รถถูกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังมีหนี้เช่าซื้อส่วนขาด (ติ่งหนี้) ลูกหนี้จะชำระหนี้ส่วนขาดที่เป็นธรรมตามแนวทางของศาลยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
แบงค์ชาติ หน่วยงานพันธมิตรข้างต้น และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 12 แห่งซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 65 ของสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมด ร่วมกันจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อออนไลน์” ระหว่าง 1 มิ.ย.–31 ส.ค. 64 เพื่อช่วยให้ประชาชนยังคงสามารถประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ[7] [8] โดยประชาชนที่มีหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกสถานะ (ไม่รวมรถจักรยานยนต์) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด- 19 สามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขหนี้ได้
โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64 มีลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 24,199 คัน ซึ่งผลการไกล่เกลี่ยสามารถที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขได้ประมาณ 75%
ฉบับหน้าผู้เขียนจะนำเสนอถึงการพัฒนาแนวปฏิบัติในธุรกิจเช่าซื้อในหลายประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจนหรืออาจยังไม่เหมาะสม (Misconduct) เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และร่วมกันนำพาสู่สังคมการเงินยั่งยืนในระยะยาว
หมายเหตุ: ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ก็มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากลูกหนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมหรือประสงค์จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรศัพท์ 1213 หรือ กรณีเจ้าหนี้เช่าซื้อที่ไม่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ ลูกหนี้สามารถส่งคำขอแก้หนี้ผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” ของ ธปท. ได้ด้วย (www.1213.or.th/App/DebtCase)
ผู้เขียน :
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
นางสาวประภัสสร เพ็งน้อย
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
นางสุพิชา พันธเสน
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 ส.ค. 2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง:
[1] วิรไท สันติประภพ (2021), ทางออกจากกับดักหนี้ครัวเรือน, บทความนำเสนอต่อที่ประชุมสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตสภา, Thaipublica, 26 Apr
[2] โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, อัจจนา ล่ำซำ, กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์, และภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์ (2017a), มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร, PIER aBRIDGEd Issue 10/2017, 26 Jun
[3] โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, อัจจนา ล่ำซำ, กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์, และภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์ (2017b), X-Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร, PIER aBRIDGEd Issue 14/2017, 6 Sep
[4] ดอน นาครทรรพ (2021), ปัญหาหนี้ครัวเรือน: ระเบิดเวลาที่ต้องเร่งปลดชนวน, THE STANDARD, 27 July
[5] มณฑลี กปิลกาญจน์ และวันใหม่ นนท์ฐิติพงศ์ (2021), แรงงานนอกระบบ: ผลกระทบและความท้าทายในยุค COVID-19, บทความขนาดสั้นของสายนโยบายการเงิน ธปท., 30 Mar
[6] “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอนจบ): แรงงานนอกระบบ”, ในสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” จัดโดยกระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR), Thaipublica (เกาะกระแส), 13 Aug 2020
[7] ข่าว ธปท. ฉบับที่ 37/2564 เรื่อง ธปท. เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์, 31 พ.ค. 2564
[8] ข่าว ธปท. ฉบับที่ 41/2564 เรื่อง ธปท. ชี้ลูกหนี้เช่าซื้อที่มีปัญหาติ่งหนี้และรถที่ใช้ประกอบอาชีพทำมาหากินถูกยึดสามารถไกล่เกลี่ยปัญหาผ่านงานมหกรรมเช่าซื้อ, 17 มิ.ย. 2564