​ว่าด้วยเรื่อง...ลดดอกเบี้ย ลดหนี้คนไทย

ปัญหาหนี้คนไทยสูงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สั่งสมมานาน และเป็นข่าวใหญ่ในช่วงกลางปีนี้เมื่อท่านนายกฯ ประยุทธ์ออกมาแสดงความเป็นห่วง และเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบในระยะสั้นและยาว โดยตั้งเป้าออกมาตรการระยะสั้นภายใน 6 เดือน เช่น ลดดอกเบี้ยเพิ่ม ไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อลดการดำเนินคดี ยกระดับการกำกับดูแลลูกหนี้ให้เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงออกมาตรการระยะยาว เช่น ส่งเสริมการแข่งขันให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงอีก

วิกฤตโควิด-19 ยิ่งมาซ้ำเติมความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ เพราะรายได้ลดลงหรือต้องกู้มาเสริมสภาพคล่อง ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดขึ้นในประเทศ หลายหน่วยงานพยายามช่วยแก้ปัญหาหนี้คนไทยมาเป็นระยะ โดยเฉพาะแนวทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระหนี้ ทั้งแบบปรับลดชั่วคราวหรือปรับลดถาวร พอยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้


ธปท.ช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบผ่านหลายช่องทาง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธปท. ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.25% มาอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา และประกาศลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงินของสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% ของยอดเงินฝากเป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ช่วยอีกทาง เพื่อให้ธนาคารสามารถปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงลงเพิ่มเติมจากกลไกส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยตามปกติ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยอ้างอิง (Minimum Retail Rate: MRR) ลดลงมาได้เกือบ 1% ต่อปีเทียบกับช่วงต้นปี 63 ที่ราวๆ 7%

ให้สถาบันการเงินลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิต (ลดจาก 18% เป็น 16% ต่อปี) สินเชื่อบุคคลที่เรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมรวมกันแบบลดต้นลดดอก (effective rate) จากไม่เกิน 28% ลดเหลือ 25% ต่อปี และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (ลดจาก 28% เหลือ 24% ต่อปี) นอกจากนี้ ยังรวมถึงสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ที่ให้คิดดอกเบี้ย effective rate ไม่เกิน 33% ลดจากเพดานเดิมที่ 36% ต่อปี

ออกแนวทางการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ของสถาบันการเงินที่เป็นธรรมขึ้น สำหรับสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน คือ (1) ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บน “เงินต้นเฉพาะงวดที่ผิดนัดชำระจริง” (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 63 (2) ให้คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกได้ไม่เกิน 3% ต่อปี” ตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 และ (3) กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้ “ตัดเงินต้นที่ค้างชำระนานสุดก่อน” ตั้งแต่ 1 ก.ค. 64



ลดดอกเบี้ยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ที่ใช้มาเกือบร้อยปี

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผลักดันให้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลจนสิ้นสุดคดี มีผล 11 เม.ย. 64 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 และมาตรา 224 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้มานานตั้งแต่ปี 2468 โดยปรับลดดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ก่อน (จากเดิม 7.5% เหลือ 3% ต่อปี) ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (จากเดิม 7.5% เหลือ 5% ต่อปี) ไม่คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย และให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินต้นงวดที่ผิดนัด (จากเดิมคิดบนเงินต้นคงค้างทั้งหมด) การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้และปรับลดระดับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ก่อนและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงไป ลดหนี้เสียและการฟ้องคดี ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับประกาศ ธปท. เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้เช่นกัน


เพิ่มการแข่งขันลดดอกเบี้ยตลาดสินเชื่อฐานราก

กระทรวงการคลังมีนโยบายให้ธนาคารออมสินเร่งขยายบทบาทสู่ธุรกิจนอนแบงก์และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อเป็นผู้นำตลาดเพิ่มการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยตลาดลดลง แบงก์ออมสินได้ออกมาประกาศในเดือน มี.ค. 64 ร่วมทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และจะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ต่อปี โดยเริ่มนำร่องกำหนดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ไว้ที่ 14.99% ในช่วง 3 เดือนแรกแล้วค่อยปรับเป็น 16-17% ต่อมาในเดือน พ.ค. 64 ได้ประกาศลดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเหลือ 11% ต่อปีตลอดอายุสัญญาสำหรับผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อพิเศษนี้ภายใน 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการ refinance ลดภาระดอกเบี้ยจากสัญญากู้เดิม การเข้ามาแข่งขันของแบงก์ออมสินในตลาดสินเชื่อฐานรากทำให้ธุรกิจคู่แข่งในตลาดทยอยลดดอกเบี้ยลงมาใกล้กันมากขึ้น (จากเดิม 24-28% ลดเหลือ 17-18%) เพื่อรักษาฐานลูกค้า


ลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาชั่วคราว

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาตรการแบ่งเบาภาระของผู้กู้ตลอดปี 2564 สำหรับกลุ่มผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี (1) ลดเบี้ยปรับ 100% ให้ผู้กู้ที่ชำระหนี้เพื่อปิดบัญชีในคราวเดียว (2) ลดเบี้ยปรับ 80% ให้ผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (3) ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว (4) ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด ลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0.01% ต่อปี (จากเดิม 1% ต่อปี) ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 ธ.ค. 64 สำหรับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในช่วงปี 2563 และ 2564 จะชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 สำหรับผู้กู้ที่ถูกบังคับคดีจะงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์จนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 จะยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน


หลายหน่วยงานร่วมช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากแนวทางปรับลดดอกเบี้ยที่กล่าวมาแล้ว ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาเป็นระยะตั้งแต่ต้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ปกติที่ยังไม่เป็น NPL ณ 1 มี.ค. 63 เช่น ผ่อนชำระขั้นต่ำ เปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นให้เป็นระยะยาว ลดค่างวด/เลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น กรณีลูกหนี้ที่เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงิน เปลี่ยนจากสินเชื่อระยะสั้นให้เป็นระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เท่าที่จ่ายไหว ไม่ต้องกลายเป็น NPL ด้านกระทรวงการคลังให้แบงก์รัฐช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เช่นกัน โดยออกมาตรการเลื่อนชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย โดยลูกหนี้สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้จนถึงสิ้น ธ.ค. 64


คนไทยจะหลุดพ้นกับดักหนี้ในสถานการณ์โควิดที่มาซ้ำเติมได้ ผู้นำประเทศต้องยกปัญหาหนี้คนไทยให้เป็นวาระแห่งชาติเช่นนี้ ตั้งคณะกรรมการดูแลจริงจังและให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาหนี้ครบวงจร เพื่อเป็นช่องทางให้หลายหน่วยงานที่พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้คนไทยได้เชื่อมต่อภาพกัน และหาทางแก้ปัญหาเพิ่มเติมจากมาตรการลดดอกเบี้ยที่ช่วยบรรเทาภาระผ่อนชำระหนี้เป็นหลัก เพื่อให้แก้โจทย์ลดหนี้คนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นค่ะ


ผู้เขียน:
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>