​ไทยจะเกิดเงินเฟ้อฝังลึกจาก wage-price spiral หรือไม่ ?

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในลักษณะเชิงรุกเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อสูงและป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อฝังลึกในเศรษฐกิจ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อจุดติดและอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน คือ “wage-price spiral” ซึ่งเป็นวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน แล้วประเทศไทยมีโอกาสเกิด wage-price spiral มากน้อยแค่ไหน ปัจจัยหรือเงื่อนไขใดที่อาจทำให้เกิดขึ้น จะขอชวนทุกท่านมาติดตามอย่างใกล้ชิดกันครับ

Minded man viewing receipts in supermarket and tracking prices; Shutterstock ID 1980000383; purchase_order: BOT; job: ; client: ; other:

ในต่างประเทศความกังวล wage-price spiral เริ่มต้นที่การส่งผ่านจากเงินเฟ้อสู่ค่าจ้างเป็นวงกว้างท่ามกลางตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งเอื้อให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อจุดติด แต่บริบทของไทยในปัจจุบันคาดว่าเงินเฟ้อจะส่งผ่านสู่ค่าจ้างได้ไม่มากเหมือนในต่างประเทศ เนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

(1) ภาวะตลาดแรงงานของไทยปัจจุบันโดยรวมตึงตัวน้อยกว่าในต่างประเทศ สะท้อนจาก อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 1.4% ซึ่งยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 1.0% ขณะที่ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา หรือเกาหลีใต้ ต่างลดลงเข้าสู่ระดับก่อนโควิดหรือต่ำกว่าแล้ว สะท้อนว่าไทยยังมีอุปทานแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างมากนัก

(2) สหภาพแรงงานของไทยมีการรวมกลุ่มน้อยกว่าต่างชาติ สะท้อนจากสัดส่วนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต่อลูกจ้างทั้งหมดของไทยมีเพียง 3% เทียบกับสหรัฐฯ ที่ 10% อังกฤษที่ 23% แคนาดาที่ 29% หรือเกาหลีใต้ที่ 12% รวมถึงตลาดแรงงานไทยแทบไม่มีกลไกการปรับค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อโดยอัตโนมัติเหมือนในบางเมืองของสหรัฐฯ หรือในยุโรปบางประเทศ ความสามารถในการต่อรองของลูกจ้างไทยจึงมีไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

(3) อุปทานแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นมากกว่าต่างประเทศ แรงงานไทยสามารถเคลื่อนย้ายเข้า-ออกในแต่ละสาขาธุรกิจได้ง่าย ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละสถานการณ์ สะท้อนจากสัดส่วนลูกจ้างนอกภาคเกษตรต่อจำนวนผู้มีงานทำรวมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนและเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างกว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ถึงสามเท่า และในช่วงโควิดประเมินว่ามีแรงงานไทยคืนถิ่นไปมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกำลังทยอยกลับเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ ไทยสามารถพึ่งพาแรงงานข้ามชาติได้ โดยสัดส่วนแรงงานข้ามชาติต่อผู้มีงานทำรวมก่อนโควิดอยู่ที่ 7.5% หรือประมาณ 3 ล้านคน แม้ว่าในช่วงโควิดลดลงกว่า 6 แสนคน แต่คาดหวังว่าจะทยอยกลับมาในระยะข้างหน้า ดังนั้น ตลาดแรงงานไทยจึงมีอุปทานแรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายมาตอบสนองอุปสงค์ได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันค่าจ้างมากเหมือนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงการส่งผ่านจากค่าจ้างกลับไปยังเงินเฟ้อ บริบทของไทยปัจจุบันอาจมีไม่มาก เนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

(1) แรงงานที่รับผลตอบแทนเป็นค่าจ้าง (wage earners) ของไทยมีสัดส่วนเพียง 44% ของผู้มีงานทำทั้งหมด ขณะที่ในสหรัฐฯ เยอรมนี หรืออังกฤษ สูงถึง 85-92% ดังนั้น ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ส่งผลให้อุปสงค์โดยรวมของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก

(2) ต้นทุนค่าจ้างไม่ใช่สัดส่วนใหญ่ของต้นทุนรวมของผู้ประกอบการไทย แม้สัดส่วนต้นทุนค่าจ้างจะแตกต่างกันในรายสาขาธุรกิจ ตั้งแต่ 3% ในบางอุตสาหกรรม ไปจนถึง 34% ในภาคบริการบางสาขา แต่เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15% ซึ่งถือว่าจำกัด ส่งผลไม่มากนักต่อการตัดสินใจปรับราคาของผู้ประกอบการเมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ ประกอบกับผลสำรวจโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจในเดือน ส.ค. 65 พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ปรับราคาตามการเคลื่อนไหวของต้นทุนวัตถุดิบส่วนอื่นไปมากแล้ว และจะไม่ปรับราคาบ่อยนัก

(3) Mark-up ability ของผู้ประกอบการไทยปัจจุบันมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขณะนี้ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด แตกต่างจากหลายประเทศที่เศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว

ทั้งนี้ แม้บริบทของวัฏจักรและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะส่งผลให้โอกาสเกิด wage-price spiral มีจำกัด แต่ก็มีบางเงื่อนไขที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะเป็นตัวเหนี่ยวไก (trigger point) ให้โอกาสเกิดปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ กล่าวคือ หากอุปสงค์โดยรวมของเศรษฐกิจไทยปรับเพิ่มขึ้นแรงและเร็ว โดยเฉพาะอุปสงค์ในตลาดแรงงาน และหากไม่สมดุลกับอุปทาน เช่น แรงงานข้ามชาติไม่สามารถกลับเข้ามาได้เพียงพอ หรือ แรงงานคืนถิ่นไม่กลับมาทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจมากเหมือนในอดีต อาจสร้างแรงกดดันต่อค่าจ้าง และเป็นปัจจัยหล่อลื่นให้ทั้งค่าจ้างและราคาสินค้ามีโอกาสปรับขึ้นได้ในระยะต่อไป

โดยสรุป ทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง ทำให้ไทยมีโอกาสน้อยที่จะเกิด wage-price spiral เราจึงไม่ควรตระหนกตกใจกับการเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของต่างประเทศซึ่งมีวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่แตกต่างจากไทย อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักถึงเงื่อนไขที่อาจทำให้ความเสี่ยง wage-price spiral เพิ่มขึ้น และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


ผู้เขียน :
รณชาติ ผาติหัตถกร
นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3-5 ตุลาคม 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย