Businessman with mask, Analysis coronavirus impact on global economy and stock markets, Effects of outbreak and pandemic covid-19, Economy crisis, Stocks fall and financial crisis.

หลังต่อสู้กับผลพวงทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 มายาวนานเกือบสามปี ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่จีดีพี (มูลค่าที่แท้จริง) ของเศรษฐกิจไทยทั้งปีสูงกว่าจีดีพี (มูลค่าที่แท้จริง) ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19

แน่นอนว่าการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนมีความไม่เท่าเทียมกัน เช่น มูลค่าการส่งออกสินค้ากลับมาสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่งฟื้นกลับมาเพียงหนึ่งในสี่ของระดับก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ยหรือในภาพรวม ต้องถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว

คำถามสำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ยังแข็งแรงเหมือนเดิมหรือไม่ ในมิติของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในระยะปีสองปีนี้ ต้องบอกว่าไม่น่าเป็นกังวลมากนัก แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจากประมาณการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ตอปี ในปี 2566 และร้อยละ 3.9 ต่อปี ในปี 2567 ตามลำดับ

ประเด็น คือ หลังจากภาคการท่องเที่ยวกลับเป็นปรกติ เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน จากข้อมูลในอดีต หลังจากเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลงทุกครั้ง โดยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8 ต่อปี หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจนถึงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี และหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกจนถึงปี 2562 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี

ส่วนหนึ่งของแนวโน้มของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงมาจากขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งไม่เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งมักฝากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ฉุดรั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปไว้ โดยแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงไปมาก ในขณะที่แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งเป็นวิกฤตจากภายนอกล้วนๆ ไม่ชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตาม เทียบกับช่วงก่อนหน้าแล้ว ช่วงหลังวิกฤตการเงินโลกดูจะเป็นช่วงที่ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าของไทยในตลาดโลกลดลงไปอย่างมีนัย

แผลเป็นทางเศรษฐกิจของวิกฤตโควิด-19 ที่ผมเห็น มีอย่างน้อย 2 แผล แผลแรกคือหนี้ครัวเรือน แผลที่สองคือคุณภาพแรงงาน

ในแผลเป็นแรก หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในช่วงปีแรกของการระบาดของโควิด-19 พุ่งขึ้นเกินกว่าร้อยละ 90 ซึ่งสูงที่สุดในโลกสำหรับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน แม้ข้อมูลล่าสุด พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 86.8 และยังมีแนวโน้มลดลงไปอีก จากจีดีพีที่ปรับดีขึ้น แต่คาดว่าจะไม่ลงไปต่ำกว่าร้อยละ 85 ซึ่งจากงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ในประเทศส่วนใหญ่ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่าร้อยละ 80 จะฉุดรั้งอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญ อธิบายง่ายๆว่า ครัวเรือนที่มีระดับหนี้สูง ต้องเอารายได้ส่วนใหญ่ไปชำระหนี้ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น

ในแผลเป็นที่สอง คุณภาพแรงงาน เป็นที่ทราบกันดีว่า การเรียนออนไลน์และการหยุดเรียนเป็นระยะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักมีผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาครัวเรือนรายได้น้อย แต่ที่ผมเพิ่งทราบจากที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในงานแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คือ นอกจากความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 แล้ว จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วง 2 ปี จากต่ำกว่า 1 ล้านคนเล็กน้อยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็น 1.3 ล้านคน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565

นัยของตัวเลขนี้ คือ นักเรียนยากจนพิเศษมีความเสี่ยงสูงมากที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และเมื่อหลุดออกไปแล้ว มักจะไม่กลับเข้ามาอีก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะเป็นตัวถ่วงคุณภาพแรงงานไทยในอนาคต

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถลบรอยแผลเป็นบางประเภทได้ ผมเชื่อว่า ด้วยมาตรการที่ตรงจุด เราสามารถจัดการกับทั้งสองแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้เช่นกัน โดยในส่วนของหนี้ครัวเรือน ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional paper) เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจปัญหาหนี้ ครัวเรือนและร่วมกันแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการ "ทำครบวงจร - ทำถูกหลักการมีสมดุลที่ดี - ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน" เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา

ในส่วนของนักเรียนยากจนพิเศษ ผมเชื่อว่า หากข้อเสนอการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ 'ทุนเสมอภาค' ของ กสศ. ให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สำหรับปีงบประมาณ 2567 ได้รับการตอบสนอง น่าจะช่วยรักษานักเรียนยากจนพิเศษส่วนหนึ่งให้อยู่ในระบบต่อไปได้


ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย