​ไทยเที่ยวนอกทำให้การใช้จ่ายในประเทศลดลงจริงหรือ?

Info-แจงสี่เบี้ย Global recession-8Nov - 9

ก่อนการระบาดของโควิด 19 คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกันมาก โดยในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวไทยที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 10.5 ล้านคน ซึ่งนำเงินออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศสูงกว่า 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 3 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป[1] ถือว่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย จึงไม่แปลกใจที่คนมักคิดว่าเมื่อคนไทยนำเงินมากมายไปใช้เที่ยวเมืองนอกจะส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง และอาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด 19 และการที่ทั่วโลกบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไทยเที่ยวไทยกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคท่องเที่ยวและมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย หลายคนจึงมีความกังวลว่า เมื่อการแพร่ระบาดคลี่คลายลงมาก และต่างประเทศกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง คนไทยจะแห่ไปเที่ยวนอกจนทำให้การใช้จ่ายในประเทศลดลงหรือไม่ บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาหาคำตอบไปด้วยกัน



การใช้จ่ายของคนไทยในประเทศและในต่างประเทศสัมพันธ์กันอย่างไร

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยเจอบทความทางอินเทอร์เน็ตมากมายที่แบ่งปันเทคนิคการออมเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มที่สนใจบทความดังกล่าวมักเป็นคนรายได้น้อยถึงปานกลางที่อาจไปเที่ยวต่างประเทศไม่บ่อยนัก ทำให้ต้องเก็บหอมรอมริบด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง แต่สำหรับคนรายได้สูงที่มีเงินออมมากอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการไปเที่ยวต่างประเทศแต่ละครั้งแทบไม่มีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันเลย ดังนั้น ประโยคที่ว่า "ไทยเที่ยวนอกที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง" จึงมีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มคนรายได้น้อยถึงปานกลาง

ในอีกมุมหนึ่ง โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศจะครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง[2] ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการเดินทางถือเป็นการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศ เช่น ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและสนามบิน ค่าประกันการเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินในประเทศ (กรณีผู้เดินทางไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ) รวมถึงค่าเสื้อผ้า เช่น เสื้อกันหนาว โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้นับรวมอยู่ในการบริโภคภาคเอกชน (final private consumption expenditure) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สะท้อนว่าการท่องเที่ยวในต่างประเทศกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่าการที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมีผลต่อการใช้จ่ายในประเทศทั้งเชิงบวก (เพิ่มการใช้จ่าย) และเชิงลบ (ทดแทนการใช้จ่าย) คำถามคือแล้วผลสุทธิจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนได้นำข้อมูลการใช้จ่ายในประเทศและค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศของคนไทย[3] ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2004 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2022 มาหาความสัมพันธ์ด้วยเทคนิคทางเศรษฐมิติที่น่าเชื่อถือ โดยควบคุมปัจจัยด้านรายได้และอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า (1) ช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19: ค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 1% ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.07-0.10% และ (2) ช่วงที่โควิดกำลังระบาด: ค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 1% ยังส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มเช่นกัน แต่เพิ่มขึ้นเพียง 0.02% ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ และบางส่วนหันมาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น จึงเห็นผลในเชิงทดแทนเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ ข้อมูลในอดีตชี้ว่าการที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศนั้นมีผลเชิงบวกต่อการใช้จ่ายในประเทศมากกว่าผลเชิงลบ ซึ่งอาจขัดใจผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน แต่ผลที่ได้มาชี้ว่าการไปเที่ยวเมืองนอกนั้นเป็นสินค้าและบริการที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการใช้จ่ายในประเทศ เปรียบเสมือนการกินของหวานหลังอาหาร ที่ไม่ว่าเราจะกินของคาวอิ่มเท่าไหร่ ก็จะมีท้องไว้สำหรับของหวานเสมอ มันทดแทนกันไม่ได้


แนวโน้มระยะถัดไป

ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เร่งขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2022 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 57% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 สะท้อนว่าคนไทยยังมีความสามารถในการออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศได้มากกว่านี้ ซึ่งอาจจะเห็นตัวเลขไทยเที่ยวนอกเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ที่จุดหมายยอดนิยมของคนไทยอย่างญี่ปุ่นและไต้หวันผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพสูงที่บั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือน ประกอบกับค่าตั๋วเครื่องบินที่แพงขึ้นมาก เนื่องจากสายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องปรับราคาแพ็กเกจทัวร์เพิ่มขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศเป็นกลุ่มรายได้สูงที่ไม่ค่อยถูกกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด 19 อีกทั้งยังมีเงินออมเหลืออยู่มาก ซึ่งค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นของคนกลุ่มนี้ไม่น่าจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง ผู้เขียนจึงคาดว่าไทยเที่ยวนอกที่เพิ่มขึ้นจะไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศโดยรวม


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


เอกสารอ้างอิง:

[1] กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2019), สรุปรายจ่ายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ ปี 2019, 30 ต.ค. 2020

[2] Tourism Organization (2006), Thailand: The Asia and the Pacific Intra-regional Outbound Series, Madrid: World Tourism Organization และ อุดมศักดิ์ ศีลประชาวงศ์ (2019), ผลกระทบจากการเดินทางไปต่างประเทศของคนไทยต่อธุรกิจการท่องเที่ยว, พัฒนาการเศรษฐกิจปริทรรศน์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1

[3] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2022), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 3/2022, 21 พ.ย. 2022


ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ
เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศทย
นักเศรษฐศาสตร์ที่สนุกกับการวิเคราะห์ข้อมูลจุลภาคโดยอาศัยเทคนิคทางเศรษฐมิติเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของภาคครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย