เศรษฐกิจโลกได้ผ่านกระบวนการ Destruction จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว และสถานการณ์กำลังเดินหน้าพาแต่ละประเทศไปสู่ทางแยก ประเทศกลุ่มหนึ่งยังทำได้เพียงรับมือผลกระทบเฉพาะหน้า ขณะที่ประเทศอีกส่วนหนึ่งไม่เพียงจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่อาศัยผลบวกของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีโดยฝั่งผู้ผลิตและการตอบรับนำเทคโนโลยีมาใช้งานโดยผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการอาศัย Destruction ของโควิด-19 อย่างสร้างสรรค์ ในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับที่มาของกระบวนการ Creative Destruction และพัฒนาการในประเทศไทย
นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2564 ได้แนะนำหนังสือเรื่อง The Power of Creative Destruction โดย อาจารย์ Philippe Aghion คุณ Céline Antonin และ คุณ Simon Bunel ที่เพิ่งวางแผงฉบับแปลภาษาอังกฤษจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งทาง The Economist เรียกอาจารย์ Philippe Aghion ว่าเป็นทายาทในทางวิชาการของปรมาจารย์ Joseph Schumpeter ผู้พัฒนาฐานคิดของกระบวนทัศน์ “Schöpferische Zerstörung” ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Creative Destruction หรือ Schumpeter’s gale
Creative Destruction เป็นกระบวนการที่นวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เทคโนโลยีเดิมล้าสมัยและกระตุ้นให้ธุรกิจใหม่ ๆ เติบโตขึ้นแข่งขันกับธุรกิจดั้งเดิม จึงสร้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ไปพร้อม ๆ กับทำลายงานและกิจกรรมประเภทเดิม ๆ ลง กระบวนการนี้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบทุนนิยมจากการหนุนเนื่องให้กระแสการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน โดยหนังสือเล่มล่าสุดนี้ตีความถึงบทบาทของ Creative Destruction ที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอดีตทั้งการกำเนิดและการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คลื่นกระแสเทคโนโลยีลูกต่าง ๆ ภาวะซึมยาวของเศรษฐกิจ (Secular Stagnation) วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำ กับดักรายได้ปานกลาง และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ในปี 2556 ผู้เขียน ได้ทดลองนิยาม Creative Destruction เป็นภาษาไทยอย่างลำลองไว้ว่า “รื้อ โละ ริเริ่ม” ในงานศึกษาร่วมกับ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา และ คุณทศพล อภัยทาน (Thailand’s Quest for Economic Growth: From Factor Accumulation to Creative Destruction) และขออนุญาตเรียก ดร.เกียรติพงศ์ ว่าเป็น Modern Champion ของ Creative Destruction ในไทย
งานศึกษานี้ประเมินบทบาทของการ “รื้อ โละ ริเริ่ม” ในฐานะกลไกสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานของการจัดสรรปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรให้สอดคล้องกับพลวัตของผู้ประกอบการผ่านการส่งเสริมให้กิจกรรมที่มีนวัตกรรมสูงเข้าถึงทรัพยากรที่ถูกปลดปล่อยจากกิจกรรมดั้งเดิมที่ใช้ต้นทุนการผลิตมากแต่สร้างมูลค่าได้น้อย สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กลไกดังกล่าวดำเนินไปได้ราบรื่น คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง และ กลไกทางสถาบันที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนผ่านการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การศึกษาพบว่าระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับโลก แม้ว่าในบางกิจกรรมที่มีการแข่งขันสูงจะพบการเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การแข่งขันในภาพรวมยังกระตุ้นการเคลื่อนย้ายแรงงานได้น้อย กลไก Creative Destruction ในเศรษฐกิจไทยจึงทำงานอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ตัดภาพมาปัจจุบัน ดร. ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย กล่าวถึงกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ว่าคือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กในรูปแบบของ ดอกไม้กับแมลง คือ แมลงดูดดื่มน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ และก็ช่วยดอกไม้ให้ผลิบานสะพรั่งกระจายทั่ว แต่ความร่วมมือระหว่างเอกชนรายใหญ่และรายเล็กต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวก จึงน่าคิดว่าเราจะใช้โอกาสนี้ “รื้อ โละ ริเริ่ม” อย่างไรเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นหัวรถจักรชักจูงประเทศให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จ สมกับที่ ดร.ปิติ กล่าวไว้ว่า Don’t waste a good crisis