ในเดือนเมษายน นอกจากจะมีวันสำคัญของคนไทยอย่างวันสงกรานต์แล้ว อีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อโลกของเราก็คือ วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยเริ่มมีขึ้นในปี 2513 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกรวน (climate change) ปัญหาขยะพลาสติก การอนุรักษ์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความตระหนักว่า โลกที่เราอยู่นั้นมีความเปราะบางเพียงไร จึงสำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องรักษาไว้ เพื่อการดำรงอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติทั้งในรุ่นเราและรุ่นถัดไปในอนาคต โดยการประชุมในปีนี้เน้นเรื่องเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions or net zero) ให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตภาวะโลกรวนที่เลวร้าย จึงอยากชวนผู้อ่านร่วมคิดไปด้วยกันว่าการจะไปสู่เป้าหมาย net zero นั้นต้องอาศัยปัจจัยใดบ้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีโอกาสอะไรที่ซ่อนอยู่ในความท้าทายนี้
การที่จะไปสู่เป้าหมาย net zero ในระดับโลกได้ในปี 2593 นั้น ต้องเริ่มจากการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเปลี่ยนเข้าสู่โหมดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งการผลิต การบริโภค และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในการวางระบบด้านพลังงานและการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (McKinsey 2565) โดยเป็นการลงทุนในสินทรัพย์คาร์บอนต่ำที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น สินทรัพย์ที่ใช้ในการผลิตพลังงานสะอาด (เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์) เชื้อเพลิงชีวภาพ อาคารคาร์บอนต่ำ รถยนต์ไฟฟ้า การทำเกษตรคาร์บอนต่ำ การลงทุนซึ่งจำเป็นต้องมีเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินทรัพย์คาร์บอนต่ำ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าและบริการสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นำไปสู่การเติบโตและพัฒนาของบางภาคธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เกิดภาคธุรกิจใหม่ที่ อาจจะไม่เคยมีมาก่อนในบางประเทศ จึงเป็นโอกาสที่น่าจับจองท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกสีเขียว
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอุปโภคและบริโภค ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจบางประเภทเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะ ธุรกิจการเกษตรและการจัดการที่ดิน (Agriculture and land use) และ ธุรกิจการจัดการคาร์บอน (carbon management) ที่คาดว่าจะมีมูลค่ารวมของตลาดในสองกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า (McKinsey 2565) เมื่อมองบริบทไทยที่เกษตรกรรมนั้นมีบทบาทสำคัญอยู่แล้ว หากเราเริ่มหันไปทำเกษตรคาร์บอนต่ำ โดยการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การทำการเกษตรแบบ “Do-nothing farming” หรือ เกษตรกรรมแบบธรรมชาติของ ฟูกูโอกะ โดยจะไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี/สารเคมี ซึ่งจะลดการใช้แรงงานและเครื่องจักรใช้น้ำมันดีเซลไปด้วย การหาทางเลือกใหม่ ๆ จากแนวทางเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ จะช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่เดิมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตรในเชิงสีเขียวได้มากขึ้น ส่วนธุรกิจการจัดการคาร์บอน เช่น ระบบดักจักและจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage System) แม้มูลค่าตลาดอาจดูน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น แต่ด้วยความจำเป็นในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากขึ้น แต่การจะคว้าโอกาสในธุรกิจด้านนี้นั้นต้องอาศัยการเร่งสร้างนวัตกรรมด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่ามีโอกาสในหลายกลุ่มธุรกิจในการเติบทางนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ การเริ่มลงทุนในสินทรัพย์คาร์บอนต่ำยังช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงต่ออุปสรรคทางการค้าที่มีข้อกำหนดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
การเปลี่ยนผ่านไม่เพียงต้องอาศัยเม็ดเงินในการลงทุนจำนวนมากแต่ต้องสร้างความพร้อมทางสังคม โดยการปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น ต้องอาศัยทั้ง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม แม้พวกเราจะเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ บนผืนโลกแห่งนี้ แต่ทุกคนมีส่วนร่วมให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำได้เช่นกัน อาจจะเริ่มต้นจากกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ เช่น การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานและดึงปลั๊กออกทุกครั้ง การรับประทานอาหารท้องถิ่นหรือใกล้บ้านให้มากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการขนส่งอาหารและวัตถุดิบ ตลอดจน การดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ลดคาร์บอนให้มากที่สุด โดยไม่ลืมว่าทุกลมหายใจเข้าออกของเราก็มีส่วนสร้างคาร์บอนอยู่ด้วย
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 พฤษภาคม 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>