​สิ่งที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาต้องเร่งทำเพิ่ม!

เมื่อเดือนก่อนในบทความ “แสงสว่างปลายอุโมงค์ของหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมาก และถือว่ามีหนี้เสียสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย พร้อมกับการลงมือแก้ไข “ยกเครื่อง” บางส่วนกันไปแล้ว อันถือเป็นทิศทางการเดินหน้าที่ดี มาวันนี้ ผู้เขียนขอขยายความต่อถึงสิ่งที่ กยศ. ควรทำเพิ่มเติม โดยสังเคราะห์จากข้อเสนอที่ผู้เขียนเห็นด้วยของ ศ. ดร. เมธี ครองแก้ว ผู้เชี่ยวชาญประเด็นปัญหาหนี้ กยศ. และ ดร. ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กันครับ

Female graduates wear black gowns and yellow tassels waiting to attend the commencement ceremony at the university.

สิ่งที่ กยศ. ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์โควิด-19อาทิ การเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระคืนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี รวมทั้งการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนและชะลอการฟ้องร้องลูกหนี้ กยศ. ที่ผิดนัดชำระประจำปี 2563 และ 2564 (ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564) ย่อมเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมลูกหนี้ กยศ. ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและอยู่ระหว่างการบังคับคดี ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.5 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หรือที่เรียกว่า “คดีแดง” และอยู่ระหว่างบังคับคดี มากถึง 1.2 ล้านคดี

ยกตัวอย่างเรื่องจริงจากคุณสุนิสา (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาจากจังหวัดพัทลุง ลูกหนี้ที่เริ่มกู้เงินค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายจาก กยศ. ตั้งแต่ปี 2539 เพื่อเรียนต่อในระดับ ปวส. และระดับมหาวิทยาลัย รวมมูลค่าหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 216,000 บาท และเริ่มชำระหนี้คืนเดือนละ 500 บาทหลังจากระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีตามระเบียบของ กยศ. โดยจะต้องชำระหนี้ให้หมดในเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากคุณสุนิสาชำระหนี้ไปได้ประมาณ 8 ปี เกิดตกงานเมื่อปี 2555 ทำให้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ตามกำหนด และเสียค่าปรับในอัตรา 18% ต่อปี (จากเดิมที่เสียอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีเท่านั้น) และเมื่อขาดการชำระคืนติดต่อกันหลายปี กยศ. จึงฟ้องร้องต่อศาล และเมื่อทำข้อตกลงกับศาลได้เมื่อปี 2561 มูลหนี้ของคุณสุนิสาก็พุ่งขึ้นไปสูงถึงประมาณ 480,000 บาท โดยในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าปรับมากถึง 260,000 บาท สูงกว่าเงินต้นที่กู้มา และต้องจ่ายคืนทั้งหมดในเวลา 8 ปี 1 เดือน มิเช่นนั้นจะถูกยึดบ้านและทรัพย์สินอื่นได้ คุณสุนิสาจึงได้พยายามผ่อนชำระอย่างต่อเนื่องตามคำพิพากษาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันรวม 34 งวด รวมเป็นเงิน 170,000 บาท แม้จะทำงานเป็นลูกจ้างมีรายได้แทบไม่พอใช้ต่อเดือน แต่ปรากฏว่าเงินที่คุณสุนิสาได้ผ่อนชำระคืนหนี้ กยศ. ตามคำพิพากษาของศาลนั้น ไม่ได้ทำให้เงินต้นประมาณ 216,000 บาทลดลงแต่อย่างใด เพราะเงินถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดทั้งหมด!

ดังนั้น สิ่งที่ กยศ. ต้องเร่งทำต่อคือ 1) การผ่อนปรนช่วยลูกหนี้จะต้องย้อนกลับไปในอดีตด้วยสำหรับลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เพื่อให้ยอดหนี้ที่ต้องจ่ายมีความสมเหตุสมผล และ 2) การกำหนดเงื่อนไขการเริ่มผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษาแล้วนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าลูกหนี้ต้องมีงานทำและมีรายได้ก่อน (Income-Contingent Loan) ไม่ใช่การกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ไว้ตายตัวที่ 2 ปี เช่น จะเริ่มจ่ายปีแรกเลยก็ได้ แต่ต้องเริ่มจ่ายภายในไม่เกิน 4 ปี ทั้งนี้ อาจมีคนค้านว่าผู้กู้จะมีแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) หรือไม่ เช่น เรียนจบแล้วไม่ยอมทำงาน หรือ ไม่ยอมทำงานให้รายได้ถึงระดับที่ต้องชำระหนี้คืน คำตอบคือเป็นไปได้ แต่ระบบนี้ได้ออกแบบไว้ในหลักที่ว่าหากรายได้ไม่พอก็ยังไม่ต้องใช้ และหนี้ไม่ได้หายไปไหน

ผู้เขียนได้แต่เอาใจช่วยคุณสุนิสา และลูกหนี้คนอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่จริง ๆ แล้วมีวินัยในการชำระหนี้ แต่ต้องพบกับปัญหาการขาดรายได้ในครั้งอดีตที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่จากวิกฤตโควิด-19 ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กยศ. จะเร่งแก้ปัญหาให้เกิดความสมเหตุสมผลในมูลหนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนด้วยครับ!


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย