ในระยะหลัง ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่จับตามองอย่างมากของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ดำเนินนโยบาย คือปรากฎการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งพร้อมไปกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นทั้งการเงินการคลังขนานใหญ่ (reflation) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศเหล่านั้นปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ในระยะยาวของประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ตามมุมมองของนักลงทุนที่ว่าธนาคารกลางอาจจะเปลี่ยนจากนโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบันเป็นนโยบายแบบตึงตัวเพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มน้ำหนักในการวิเคราะห์เงินเฟ้อของนักวิเคราะห์และผู้ดำเนินนโยบายในหลายประเทศ ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญในบริบทของประเทศไทยคือ ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหรือไม่ และอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคตข้างหน้า
เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นกระทบเงินเฟ้อไทยไม่มาก
หากพิจารณาสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ จะพบว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว จากกำลังซื้อที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งปัจจัยพิเศษอย่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (world commodity price) ที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากการผลิตหยุดชะงักในช่วงการระบาดของ COVID-19 และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะคลี่คลายลงในช่วงต้นปี 2565 เมื่อกำลังซื้อกลับสู่ระดับปกติและภาคการผลิตทยอยฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลง โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ย้ำอีกครั้งถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อว่ามาจากปัจจัยชั่วคราว (transitory factors) เช่นกัน สอดคล้องกับตลาดการเงินที่เริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐที่ทยอยปรับลดลงด้วย
เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยไม่มากนัก เพราะนอกจากเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวแล้ว ยังมีเหตุผลอีก 2 ประการ ดังนี้ 1) ตะกร้าเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้า (import content) ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 16 และที่ผ่านมา ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะส่งผ่านจากราคาน้ำมันโลกมายังราคาน้ำมันในประเทศเป็นหลัก (รูปที่ 1) ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันในประเทศในระยะข้างหน้าจะไม่ปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ และกลุ่ม OPEC+ ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้น (2) ประเทศไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือดูแลราคาน้ำมันในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับการปรับราคาน้ำมันในตลาดโลก และ (3) ผลกระทบทางอ้อม (second round effect) จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีจำกัดเช่นกัน เพราะข้อมูลในอดีตชี้ว่า ราคาน้ำมันจะกระทบราคาอาหารและต้นทุนในการผลิตสินค้าอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเมื่อราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน 2) ต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้น้อย (รูปที่ 2) โดยแม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นบ้างในบางอุตสาหกรรม(สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ producer price) แต่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยค่อนข้างจำกัด (รูปที่ 3) เพราะ (1) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจากกลุ่มโลหะหรือเซมิคอนดักเตอร์ จำกัดอยู่แค่บางกลุ่มสินค้า อาทิ ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากในตะกร้าเงินเฟ้อไทย และ (2) จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอทำให้การปรับเพิ่มราคาสินค้าทำได้ยาก
เงินเฟ้อไทยที่ปรับสูงขึ้นในไตรมาส 2 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว
ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่พบการส่งผ่านราคาสินค้าและเงินเฟ้อโลกที่สูงมายังเงินเฟ้อไทยอย่างชัดเจน แม้ว่าเงินเฟ้อไทยเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแต่เป็นเพียงการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว เนื่องจากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพในปี 2563 โดยคาดว่าเมื่อผลของฐานที่ต่ำหมดลงในไตรมาส 3 ปี 2564 เงินเฟ้อจะทยอยลดลงและเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบนโยบายการเงิน (รูปที่ 4) เนื่องจาก (1) กำลังซื้อในประเทศยังคงอ่อนแอ แม้จะทยอยปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการแพร่ระบาด COVID-19 ที่จะคลี่คลายลง แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในระยะข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก (2) ราคาสินค้าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นแรงและเร็ว โดยคาดว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามราคาน้ำมันที่ได้กล่าวไปแล้ว และราคาอาหารสดคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตามความเสี่ยงภัยแล้งในปัจจุบันที่ลดลง และ (3) ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอยู่เดิมและถูกเร่งขึ้นในช่วงการระบาด เช่น การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน (automation) และการใช้บริการ e-commerce ที่เพิ่มขึ้นมาก
โดยสรุป อัตราเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มสูงขึ้นคาดว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ และเงินเฟ้อโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจำกัด ในระยะต่อไป อุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ถูกเร่งขึ้นในช่วงการระบาดและแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะไม่เร่งตัวขึ้นสูง จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
ผู้เขียน :
ศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล
อัญชลี ศิริคะเณรัตน์
มณีรัตน์ ก้องเสียง
ฝ่ายนโยบายการเงิน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย