​แบงก์ชาติ กับ โจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืน

ประเทศ “กำลังเจอโจทย์ยาก” จากกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มาซ้ำเติมปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมท่ามกลางเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผันผวน ความสามารถในการหารายได้ที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และภาวะโลกรวนรวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง การปรับตัวท่ามกลางปัญหาดังกล่าวยังทำได้จำกัด จากการฉุดรั้งของภาระหนี้ของคนไทยที่มีมากขึ้นและนานขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศถึงหนึ่งในสามของกำลังแรงงานมีความเข้มแข็งทางการเงินลดลง ตลอดจน SMEs และแรงงานไทยที่ยังต้องปรับตัวอีกมากแม้เศรษฐกิจจะเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในบางกิจกรรมแล้ว


แบงก์ชาติจึงมุ่งตอบโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืนของไทย ด้วยการศึกษาเข้าใจปัญหา เชื่อมโยง ประสานงาน เสนอแนะนโยบาย เพื่อช่วยสร้างโอกาสการเติบโตและความเข้มแข็งในอนาคตของคนไทยผ่านการ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย จัดการหนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้แรงงาน เกษตรกร SMEs และประชาชนเพิ่มรายได้สุทธิเพียงพอที่จะผ่านพ้นปัญหาและฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

การทำงานอยู่บนหลักการ “คิดรอบ ตอบได้” ซึ่งให้น้ำหนักกับการทำงานติดดินร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ และเอกชน ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนรายย่อยและเกษตรกร อาทิ การลงพื้นที่ร่วมกับสภาพัฒน์ฯ เพื่อทำมาตรการแบบมุ่งเป้าผ่านโครงการ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) การส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตามบริบทของพื้นที่ร่วมกับ World Bank กรมพัฒนาชุมชน และ ธ.ก.ส. และ การจัดทำ Social Lab เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินผ่านระบบดิจิทัลและมีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการเพาะปลูกและพฤติกรรมในการปรับตัว ซึ่งสถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโดยใช้ Credit Scoring Model ภายใต้การดำเนินการร่วมกับ ธ.ก.ส. กรมการข้าว บจก. สฤก และ บจก. คิว บ็อคซ์ พอยท์

องค์ความรู้ที่เข้าถึง เข้าใจ วิถีชนบทไทย เรียนรู้วิธีคิดและเงื่อนไขชีวิตคน จากการลงพื้นที่ได้ถูกนำมาทำนโยบายที่ตรงโจทย์และสื่อสารกับประชาชนได้ดีขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างการเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ผ่านการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยทักษะความรู้ทางการเงิน การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินที่ทั่วถึง (Financial Inclusion) และการยกระดับการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (Market Conduct) โดยการดำเนินมาตรการทางการเงินภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คือ การแก้หนี้เดิมด้วยการพักการชำระหนี้ เติมเงินใหม่ด้วยการออกสินเชื่อ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟู ตลอดจน ช่วยเพิ่มเติมผ่านคลินิกแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้

ตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการแบบติดดิน คือ การรับฟังความเห็นและหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงล็อกดาวน์ในห้ากลุ่มกิจการ คือ ร้านอาหาร โรงแรม แท็กซี่และรถรับจ้าง บริการ และก่อสร้าง ที่มีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ riders และร้านอาหารกว่า 1,400 ราย ในวงเงิน 80 ล้านบาท ผ่านการจับคู่ระหว่าง แพลตฟอร์ม ไลน์แมน วงใน กับธนาคารออมสิน ตลอดจน ชวน บมจ. Kerry Express พบกลุ่มผู้ขับขี่รถรับจ้าง เพื่อร่วมงานขนส่งสินค้าในช่วงที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่

Smart agriculture 5.0 green plant product farming technology background; Shutterstock ID 1934374097; purchase_order: BOT; job: ; client: ; other:

นอกจากจะดำเนินมาตรการการเงินตามบทบาทหน้าที่ แบงก์ชาติได้ร่วมผลักดันนโยบาย เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ที่ยั่งยืน โดยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไข จึงต้องดำเนินการเชิงพื้นที่ร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบ จนกระทั่ง เกิดแนวทางแก้ไข อาทิ การประเมินสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของโรงสี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุปทานโรงสีส่วนเกินที่สะสมมาในช่วงหลายปีหลัง และการร่วมยกระดับฐานข้อมูลการผลิตภาคเกษตรของประเทศกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ GISTDA เพื่อใช้ในการวางแผนและ จัดการ ที่แม่นยำ

สำหรับด้านการยกระดับผลิตภาพแรงงานและ SMEs ต้องทำงานร่วมกันกับผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การออกแบบมาตรการรักษาการจ้างงานรายย่อยและมาตรการ Co-payment ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน มาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs ผ่านการจัดทำเกณฑ์ Credit term ร่วมกับสภาพัฒน์ฯ ซึ่ง ครม. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าบังคับใช้ให้อยู่ระหว่าง 30-45 วันจากเดิมที่บางกรณีเคยมีการดึงยาวมากถึง 6-8 เดือน และการต่อยอดความรู้ด้านโครงสร้างตลาดแรงงานผ่านการจัดทำ White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ร่วมกับสำนักงาน EEC

มองไปข้างหน้า แบงก์ชาติจะยังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา และช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในมิติการเปิดโอกาสให้ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการสนับสนุนภาคครัวเรือน ธุรกิจ ให้อยู่รอดและปรับตัว ผ่านการยกระดับทักษะความรู้ทางการเงินที่ตรงกับโจทย์ความต้องการและสอดรับกับเทคโนโลยีและภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงิน และในมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้ระบบการเงินเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการและร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย”


ผู้เขียน :
ดร.จิตเกษม พรประพันธ์
กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล
สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 5-7 กันยายน 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย