​พัฒนาคนไทยด้วยกลไกกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

ดร.นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันของทุกองคาพยพของแต่ละประเทศ องค์ประกอบของการเติบโตจึงอาจมองได้จากทั้ง 1) มุมของกิจกรรมที่ขับเคลื่อน อาทิ การบริโภค การลงทุน การค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และ การใช้จ่ายภาครัฐ 2) มิติของปัจจัยการผลิต คือ แรงงาน ทุน และเทคโนโลยี หรือ ผลิตภาพรวม และ 3) ด้านสาขา ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว และ การเงิน เป็นต้น

น่าสังเกตว่า คน เป็นจุดร่วมที่เชื่อมโยงที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพราะเป็นทั้งผู้ดำเนินกิจกรรมและเป็นปัจจัยการผลิตให้กับแต่ละสาขา ในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนความคิดถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง โดยจะเจาะจงไปที่กลไกสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นกลไกเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการเทียบโอนประสบการณ์ กล่าวคือ หากคุณ ก. จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น เมื่อออกไปทำงานได้แสดงผลงานอย่างโดดเด่นและมีทักษะความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง กรอบคุณวุฒิแห่งชาติก็จะเทียบโอนค่าประสบการณ์ให้กับคุณ ก. ซึ่งไม่เพียงทำให้คุณ ก. ได้รับความสะดวกในการรับรองความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ต่อว่าที่นายจ้าง แต่จะเอื้อให้นายจ้างมีทางเลือกในคัดสรรแรงงานเพิ่มเติม ตลอดจน เปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน และการจัดหางานให้กับคนไทย สามารถถอดแบบจากประสบการณ์ของคุณ ก. เพื่อนำไปจัดทำหลักสูตรพัฒนากลางให้กับแรงงานโดยทั่วไปได้อีกด้วย

หตุผลหลักสามประการที่กรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคนไทย คือ

ประการแรก แรงงานพ้นวัยศึกษาในระบบแต่ยังต้องการพัฒนาทักษะ คนไทยส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงและเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดังนั้น การใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นเครื่องมือเอื้อให้แรงงานสามารถยกระดับ/ปรับทักษะและเทียบโอนคุณวุฒิของตนให้สอดคล้องกับประสบการณ์และความสามารถ

ประการต่อมา การพัฒนาทักษะแรงงานในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอให้เท่าทันความต้องการทักษะแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกระแสเทคโนโลยีและโครงสร้างประชากร โดยปัจจุบันมีแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชนได้รับการอบรมเพียง 28% โดยการอบรมที่ผ่านมา บางส่วนเป็นการอบรมภาคบังคับและไม่ได้รองรับทักษะใหม่ ๆ เช่น ความปลอดภัย และสุขอนามัย ซึ่งครอบคลุมประมาณ 16% ของแรงงานที่อบรมโดยเอกชน ดังนั้น หากแรงงานใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นมาตรวัดระดับการพัฒนาทักษะของตน จะช่วยเปิดโอกาสให้ขวนขวายเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง

ประการสุดท้าย การศึกษาในระบบเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทักษะเฉพาะทางสำคัญ คือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, Arts and Mathematics - STEAM) แต่ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ควรเชื่อมโยงกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการด้วย ดังนั้น ควรวางแนวทางพัฒนานักเรียนภายใต้ความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการเกือบ 12 ล้านราย ตั้งแต่ต้นวัย เพื่อวางแผนอาชีพและชีวิต แทนที่จะรอจนกระทั่งแรงงานใกล้จะสำเร็จการศึกษาซึ่งมีอยู่ประมาณปีละ 1 ล้านราย และในจำนวนนี้มีน้อยกว่า 30% ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เป็นที่น่ายินดีว่า คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาคนไทยตามเหตุจำเป็นทั้งสามประการ และอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลแรงงานและระบบการศึกษาเพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถออกแบบนโยบายบนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการพัฒนาคนไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดจึง คือ การผสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจและแรงงานเพื่อให้นำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติมาใช้จริงในทางปฏิบัติ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>