​แสงสว่างปลายอุโมงค์ของหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

มื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวดีกันมาบ้างแล้วเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระในสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกัน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป เรียกได้ว่าเป็นการ “ยกเครื่อง” ขนานใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีหนี้เสียสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ไม่เข้าใจที่มาของปัญหาการค้างชำระหนี้ กยศ. อีกมาก วันนี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากบทความ “ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.” ที่เขียนโดย ดร. ขจร ธนะแพสย์ มาตีแผ่ให้ได้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา พร้อมกับการลงมือแก้ไขบางส่วนของ กยศ. กันครับ

Money cost saving or money reserve for goal and success in school, higher level education concept : US dollar coins / cash, a black graduation cap or hat, a certificate / diploma on white background.

ปัญหาหนี้ กยศ. เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดย ณ สิ้นปี 2563 จำนวนประชาชนที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ของ กยศ. อยู่ที่ประมาณ 3.6 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มีมากถึง 2.3 ล้านรายที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือคิดเป็นประมาณ 62% ซึ่งสัดส่วนนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจนถึงข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ค. 64 ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ กยศ. เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง มองจากภายนอกอาจจะเห็นว่าสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนตามที่ กยศ. ระบุไว้ มาจากความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นที่จะต้องชำระคืน แต่แท้จริงแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้ในหลายมิติ (ซึ่งส่วนหนึ่ง กยศ. ปรับปรุงไปแล้วเมื่อ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1) การกำหนดให้ผู้กู้จ่ายชำระคืนหนี้เป็น “รายปี” (yearly installment) ภายในวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี โดยจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ต้องเริ่มจ่ายชำระคืน ซึ่งการที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้รายปีได้ จะต้องเก็บหอมรอมริบเป็นอย่างดีทุกเดือนไม่ให้ขาด ดังนั้น สำหรับประชาชนที่กู้ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินไม่ดี จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง ส่วนเมื่อผู้กู้เรียนจบแล้ว กยศ. จะให้ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ 2 ปี และเมื่อต้องเริ่มจ่ายหนี้คืน กยศ. กำหนดค่างวดที่ต้องชำระในปีแรกเป็น 1.5% ของเงินกู้ยืม แต่ทยอยปรับขึ้น (หรือเรียกว่า progressive) อย่างต่อเนื่อง จนถึงปีสุดท้ายที่จะต้องชำระคืน 13% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ทำให้ผู้กู้ที่รายได้อาจไม่ได้ปรับขึ้นตาม จ่ายคืนเงินกู้ไม่ได้ สะท้อนจากการเริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปีที่ 6-7 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ล่าสุด กยศ. เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 เป็นไม่เกิน 30 ปี และปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนแล้ว (ส่วนผู้ที่ถูกหักเงินเดือนจากองค์กรนายจ้าง สามารถขอลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผล ส.ค. 64 – มิ.ย. 65)

2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้หรือเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในอัตราที่สูงถึง 18% ต่อปี กล่าวคือ เมื่อผู้กู้เกิดผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เดิมเคยชำระอยู่เพียง 1% จะปรับสูงขึ้นเป็น 18% ต่อปี อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กยศ. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 7.5% ต่อปีแล้ว และเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมช่วงวิกฤตโควิด ได้ปรับลดทั้งอัตราดอกเบี้ยปกติและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เป็น 0.01% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ สิ้นสุด 31 ธ.ค. 64

3) ลำดับการตัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้กู้จ่ายหนี้เข้ามาให้นำไปตัด (1) เบี้ยปรับ (2) ดอกเบี้ย (3) เงินต้น เป็นลำดับสุดท้าย ทำให้หากผู้กู้ค้างชำระหลายงวด ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเพราะจ่ายเท่าไร ก็ตัดไม่ถึงเงินต้นเสียที อย่างไรก็ดี ล่าสุด กยศ. ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้แล้วเป็น (1) เงินต้น (2) ดอกเบี้ย (3) เบี้ยปรับ เป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี และส่งเสริมให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายหนี้ต่อ

กล่าวโดยสรุป การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้สำเร็จอย่างยั่งยืน นอกจากการแก้ไขที่ตัวลูกหนี้เอง เช่น การปลูกฝังความรู้ทางการเงินแล้ว จำเป็นต้องออกแบบระบบการจ่ายชำระคืนที่เป็นธรรมและจูงใจให้ลูกหนี้มีวินัยจ่ายหนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ชื่นใจและเห็นด้วยกับทิศทางการเดินหน้าของ กยศ. แต่ที่สำคัญคือ กยศ. คงต้องเดินหน้าแก้ไขอีกหลายปัญหาให้ถูกจุดต่อไป อันจะเป็นแบบอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในภาพรวมครับ!


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ. ไทยรัฐ
บับวันที่ 7 สิงหาคม 2564




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย