​จับตาเกมการเงินดิจิทัลเชิงรุกของจีน

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน


แวดวงการเงินดิจิทัลในช่วงไม่กี่เดือนมานี้มีข่าวใหญ่น่าเก็บมาฝากกันค่ะ ซึ่งก็น่าคิดว่าการเดินเกมการเงินดิจิทัลเชิงรุกของประเทศยักษ์ใหญ่ใกล้บ้านจะเกี่ยวโยงมาถึงประเทศไทยอย่างไร


1. ข่าวการออกใช้เงินดิจิทัลรายใหญ่ในโลก

เมื่อกลางเดือน ต.ค. 63 ธนาคารกลางจีนออกเงินหยวนดิจิทัล (DCEP: Digital Currency Electronic Payment) มูลค่า 10 ล้านหยวน มาสุ่มแจกเป็นอั่งเปาให้ประชาชน 50,000 คนในเมืองเซินเจิ้น กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลสำหรับประชาชนใน 4 เมืองสำคัญ ได้แก่ เซินเจิ้น เฉิงตู ซูโจว สงอัน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค. และเป็นการเปิดตัวใช้เงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลางครั้งแรกของโลก หลังจากที่จีนซุ่มพัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยกระดับเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับในตลาดการเงินโลกมากขึ้น รวมถึงปูทางสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในโลก ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศให้ครอบคลุมทั้งตัวเงินหยวนดิจิทัลและระบบการชำระเงินดิจิทัลตามชื่อ DCEP ที่ตั้งขึ้นมา โดยคาดกันว่าจีนมีแผนจะออกใช้เงินหยวนดิจิทัลสำหรับประชาชนทั่วประเทศภายในปี 2565

พอช่วงปลายเดือน พ.ย. สมาคมลิบร้า (Libra Association) ที่ก่อตั้งโดย Facebook และพันธมิตรประกาศพร้อมออกใช้เงินดิจิทัลของตัวเองตั้งแต่ปีใหม่ 1 ม.ค. 64 นี้ เป็นแบบหนุนหลังด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (single dollar-pegged) และมีแผนจะเปิดตัวเงินดิจิทัลแบบหนุนหลังด้วยตะกร้าเงินหลายสกุล (multi-currency basket) ในภายหลัง อันที่จริงสมาคมลิบร้าได้ประกาศแผน Libra 1.0 ครั้งแรกไปเมื่อกลางปี 62 โดยมุ่งหวังจะเป็น global currency เข้าถึงสมาชิก Facebook ได้ง่าย แต่แผนการนี้ต้องสะดุดลง เมื่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ และองค์กรกำกับดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศชั้นนำหลายแห่งเริ่มกังวลว่า Libra อาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินโลก เพราะขาดการกำกับดูแลที่ดีพอ จนต้องขอหารือเพื่อปรับคุณสมบัติ Libra 1.0 เป็น Libra 2.0 ให้สามารถออกใช้ได้ การเปิดตัวแผน Libra 1.0 นี้ทำให้หลายธนาคารกลาง โดยเฉพาะจีน เริ่มเห็นถึงความจำเป็นต้องเร่งออกสกุลเงินดิจิทัลเชิงรุก เพื่อให้สกุลเงินของประเทศมีคุณสมบัติดิจิทัลไม่น้อยหน้าเงินดิจิทัลเจ้าอื่น ช่วยให้ประชาชนยังอยากใช้เงินหยวนอยู่ ทำให้ทางการยังรักษาอำนาจอธิปไตยทางการเงินภายในประเทศได้เช่นเดิม


2. ข่าวแผนการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัท Ant Financial ถูกระงับกะทันหัน

ในช่วงต้นเดือน พ.ย. ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ประกาศระงับแผนขายหุ้น IPO ของ Ant Financial บริษัท Fintech จีนยักษ์ใหญ่ของแจ๊ค หม่า กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกเพราะเป็นดีลใหญ่ที่น่าจับตา แถมยังเป็นการคว่ำดีลก่อนเปิดขาย IPO แค่ 2 วันเท่านั้น สาเหตุที่หน่วยงานภาครัฐของจีนยับยั้งการขายหุ้น IPO ของบริษัท Ant กะทันหัน ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มกังวลว่า ได้ปล่อยให้ธุรกิจ Fin Tech เติบโตเร็วมาก ถึงจะช่วยให้คนจีนเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยง่ายขึ้นบนแพลตฟอร์มของธุรกิจ Fin Tech แต่ก็ส่งผลให้ประเทศจีนมีปัญหาหนี้สูงตามมา นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่าอาจมีอีกสาเหตุหนึ่งเพราะ แจ๊ค หม่าไปกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Fintech ที่เซี่ยงไฮ้ก่อนหน้าไม่นาน ได้วิพากษ์วิจารณ์กฎเกณฑ์กำกับดูแลภาคการเงินของทางการจีนไว้ค่อนข้างแรงว่าไม่ทันสมัย และประเด็นความเสี่ยงในระบบการเงินจีนที่ทางการกังวลไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ ประเทศขาดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเงิน จึงจำเป็นต้องปฏิรูป

กล่าวกันว่าหากดีลครั้งนี้สำเร็จ บริษัท Ant จะระดมทุนได้เกือบ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดในโลก และจะมีความสำคัญเชิงระบบ (systemic importance) ต่อประเทศจีนสูงขึ้นอีก หน่วยงานภาครัฐของจีนได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การให้กู้ยืมรายย่อยออนไลน์และการเปิดเผยข้อมูลให้เข้มงวดขึ้น บริษัท Ant เลยไม่ผ่านเกณฑ์การออก IPO ที่เปลี่ยนแปลงใหม่แบบไม่ทันตั้งตัว จึงนับว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมกฎเกณฑ์ทางการเงินครั้งสำคัญของจีน จากที่เคยเปิดทางสะดวกให้บริษัท Fintech ทดลองนวัตกรรมใหม่และออกผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินได้ง่าย มาเป็นการกำกับดูแลเชิงรุกและระมัดระวังมากขึ้นเพื่อเน้นดูแลเสถียรภาพเชิงระบบของประเทศ


การแก้เกมการเงินดิจิทัลเชิงรุกของจีนและนัยต่อไทย

จะเห็นได้ว่าข่าวการออก DCEP ของจีน นอกจากจะตอบโจทย์สกุลเงินดิจิทัลสำหรับโลกอนาคตได้ไม่น้อยหน้า Libra แล้ว ยังเป็นทางเลือกในการชำระเงินให้ประชาชน แก้เกมบริษัท Fintech ยักษ์ใหญ่ในจีนที่โตเร็วจนผูกขาดระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ มีบทบาทมากกว่าระบบธนาคารจีนไปแล้ว นอกจากนี้ การออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีนมีข้อได้เปรียบเงินดิจิทัลของภาคเอกชน คือ เงินนี้มีผลทางกฎหมายทุกฝ่ายยอมรับ คนถือเงินนี้มีสิทธิเรียกร้องกับธนาคารกลางโดยตรงและสามารถใช้จ่ายเงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึงแม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต (offline) ธนาคารกลางจีนจึงยังสามารถรักษาอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในประเทศได้ ช่วยลดการเติบโตของปริมาณเงินที่สร้างจากแพลตฟอร์มการกู้ยืมของบริษัท Fin Tech ที่ยังกำกับดูแลไม่ทั่วถึง

สำหรับไทย ผู้เขียนมองว่าอาจเป็นไปได้ว่า เทรนด์การใช้เงินดิจิทัลเจ้าใหญ่ที่พูดถึงอาจแผ่ขยายมาถึงไทยไม่ช้าก็เร็ว ด้วยความที่ไทยค้าขายลงทุนกับจีนเยอะ ส่วนคนไทยที่ใช้ Facebook ก็มีหลายสิบล้านคน จึงน่าจะเข้าถึงช่องทางทดลองใช้เงินดิจิทัลของ Libra ได้ไม่ยาก ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในฐานะธุรกิจ/ผู้บริโภคที่สนใจใช้เงินดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุน หรือเป็นผู้กำกับดูแลเสถียรภาพการเงินประเทศที่ต้องตามดูกระแสตอบรับว่า คนไทยจะยังนิยมใช้เงินบาทชำระค่าสินค้าหรือทำธุรกรรมการลงทุนอยู่หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินดิจิทัลรอบตัวจึงน่าติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>