ปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่เศรษฐกิจมีความยากลำบากจากมรสุมโควิด 19 แม้นานาประเทศจะมีประสบการณ์ในการรับมือและมีวัคซีนแล้วก็ตาม แต่การกระจายวัคซีนยังไม่ได้ครอบคลุมในหลายประเทศ และการ กลายพันธุ์ของไวรัสทำให้สายพันธุ์ใหม่ๆ แพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม และวัคซีนมีประสิทธิผลน้อยลง แม้กระทั่งใกล้สิ้นปีแล้วก็ยังมีสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตาดูอย่าง Omicron ปรากฏออกมา คำถามสำคัญคือ ภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 ปัจจัยใดบ้างที่ต้องจับตา แนวโน้มการใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน กระแสกรีนอีโคโนมี การระบาดของโควิด 19 และการกลายพันธ์ของไวรัส

BANGKOK, THAILAND - MAY, 2020: thai female street vendor wearing a mask, looking around and waiting for customers in a busy crowded market street on Ramkamhaeng Rd.


เศรษฐกิจโลก: ปี 65 การฟื้นตัวท่ามกล่างความผันผวน

ปี 65 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่มีความเปราะบาง เนื่องจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศยังทำได้ไม่ทั่วถึง และการใช้แนวทางการอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย หรือ living with COVID ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจะกลับมาเป็นระยะ แนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละประเทศแยกออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คือ

(1) กลุ่มเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวดีต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป และสิงคโปร์ เพราะสามารถเปิดเมืองและประเทศได้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ได้รับผลดีจากอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตเร่งขึ้นตามกระแสดิจิทัลและ work from home

(2) กลุ่มเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวได้ หลังทยอยเปิดเมืองและเปิดประเทศ ส่วนใหญ่กระจายวัคซีนได้้ล่าช้า และพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ โปรตุเกส ไทย และมาเลเซีย ที่คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องในปี 2565 เพราะพึ่งพาสูงนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก และจีนยังไม่มีแผนการเปิดประเทศที่ชัดเจน

ความท้าท้ายของเศรษฐกิจโลกในปี 65 มีความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอน ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน หรือ global supply disruption ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ แต่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งจากอุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตและปัญหาต้นทุนและระยะเวลาขนส่งที่จะปรับดีขึ้น หลังหลายประเทศทยอยควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปรับตัวของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ที่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกระแสกรีนอีโคโนมี ที่อาจสร้างแรงกดดันให้ต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อของโลกปรับสูงขึ้น จนส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน และกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวในระยะต่อไป


เศรษฐกิจไทย: ปีแรกหลังมรสุมโควิด 19

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 64 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวช้า เพราะมีสัดส่วนพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง ในปี 65 นี้จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นอย่างชัดเจนราว 3.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนกระจายทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง ซึ่งจะมาทดแทนเครื่องยนต์ด้านการส่งออกสินค้าที่จะชะลอลงบ้าง หลังจากได้เร่งฟื้นตัวไปก่อนหน้าแล้วตามทิศทางเศรษฐกิจโลก คาดกันว่ารายรับจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดีขึ้นชัดเจนในราวช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป


ที่มา: สศช. และ CEIC รวบรวมข้อมูลและประมาณการโดย ธปท.

ภาพการท่องเที่ยวปี 65 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้เพียงบางส่วนหลังไทยเปิดประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นรายใหญ่ของไทย (11 ล้านคนในปี 2562) เนื่องจากรัฐบาลจีนจะยังคงเข้มงวดต่อการเดินทางออกนอกประเทศ คาดว่าในปี 65 อาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 6 ล้านคน (15% ของระดับก่อนเกิดโควิด 19) และอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 4 ปีจึงจะกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดที่ 40 ล้านคน โดยสรุป การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังคงเปราะบาง ต้องใช้เวลา ทำให้ธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ รวมถึงแรงงานบางกลุ่มที่อาจยังต้องตกงานหรือว่างงานแฝงไปอีกระยะหนึ่ง

ด้านสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทย ต้องบอกว่ายังไม่น่ากังวลเท่าประเทศอื่น ๆ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ยังส่งผลต่อไทยไม่มากนัก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐที่ยังตรึงราคาน้ำมันดีเซล และอีกส่วนมาจากการที่ผู้ประกอบการยังแบกรับต้นทุนไว้เอง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การแบกรับต้นทุนของผู้ประกอบการส่งผลต่อความเข้มแข็งของฐานะการเงินภาคธุรกิจ และแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ดังนั้น หากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจเห็นการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการให้ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

บทบาทของภาครัฐอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบไป ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี 65 ความจำเป็นในการเยียวยาจากภาครัฐจะลดลง คงเหลือเพียงภาคท่องเที่ยวและบริการบางส่วนที่ยังจำเป็นต้องได้รับการประคับประคองไปอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันความจำเป็นด้านการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับกับกระแสโลกอนาคตจะมีมากขึ้น โดยบางส่วนอาจต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภาครัฐ


เศรษฐกิจไทย: ความท้าทายข้างหน้าจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

ก้าวถัดไปของเศรษฐกิจไทย จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่าง ๆ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ global mega trends ที่มาถึงเร็วขึ้น อาทิ 1) กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะกลายมาเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมของโครงสร้างการค้าโลก โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐฯ และจีน 2) เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งต่อการดำเนินชีวิตและ 3) การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และอาจจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อแย่งชิงการเป็นมหาอำนาจด้วย ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโครงสร้างการค้า การส่งออก และการลงทุน ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเงื่อนไขทางการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น

โดยสรุปปี 2565 จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเดินออกจากมรสุมโควิด 19 อย่างเต็มตัว เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวทยอยกลับมาทำงานได้ตามปกติมากขึ้น แต่ฟ้าหลังมรสุมนี้ก็อาจไม่ได้สดใสนัก เพราะมีอุปสรรคและความท้าทายจากรอบด้านที่จะต้องเผชิญ ซึ่งเราจะผ่านไปด้วยกัน


ผู้เขียน :
รหมวรัท ประดิษฐ
ฐิตา เภกานนท์
วริทธิ์ พานิชเกษม
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

อลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 7 ธ.ค. 2564


>> อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย