พลาสติกประเภทต่าง ๆ
พลาสติกมี 7 ประเภท ได้แก่
1. Polyethylene Terephthalate (PETE or PET) เป็นพลาสติกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
2. High-Density Polyethylene (HDPE) ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายลักษณะ อาทิ ท่อ ถังเก็บของเหลว โต๊ะ และเก้าอี้ เนื่องจาก HDPE มีความแข็งแรงสูงและทนความร้อนได้ดี
3. Polyvinyl Chloride (PVC) เป็นที่รู้จักกันดีในลักษณะท่อ PVC โดยพลาสติกประเภทนี้สามารถทำให้อ่อนลงโดยการผสมสารกลุ่ม plasticizer เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในลักษณะอื่น ๆ เช่น แผ่นฉนวนหุ้มสายไฟ วัสดุปูพื้น และหนังเทียม เป็นต้น
4. Low-Density Polyethylene (LDPE) มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงน้อยกว่า HDPE โดยนิยมใช้ทำถุงพลาสติก โฟม และภาชนะต่าง ๆ
5. Polypropylene (PP) มีความแข็งแรงและทนต่อความร้อนได้ดี นิยมใช้ทำอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ขวดน้ำ กระติก ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถนำเข้าเครื่องล้างจานได้ รวมถึงมีการประยุกต์ใช้ในกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และผ้าอ้อม
6. Polystyrene or Styrofoam (PS) มีความแข็ง ใส (แต่สามารถใส่สีได้) รวมถึงมีความเปราะและแตกได้ง่าย เป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ขวด ถาดอาหาร และช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง
7. พลาสติกประเภทอื่น ๆ ได้แก่ polycarbonate styrene fiberglass และ nylon เป็นต้น
เทรนด์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก SCG พบว่ามี 5 เทรนด์สำคัญในระดับสากล ที่แสดงให้เห็นนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
1. ทำให้ recycle ได้ง่ายขึ้น พลาสติกนับเป็นวัสดุที่สามารถ recycle ได้ 100% แต่ที่ผ่านมา การใช้พลาสติกได้มุ่งเน้นให้ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้งาน ทำให้ผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่สามารถ recycle อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเทรนด์ในการใช้วัสดุชนิดเดียวกันในการทำบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายชั้นหรือหลายส่วน ซึ่งทำให้ recycle พลาสติกดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
2. ลดทรัพยากรการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ พลาสติกเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ช่วยลดน้ำหนักและลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน วัสดุก่อสร้างที่มุ่งเน้นความคงทนและการกัดกร่อนของสารเคมี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย การพัฒนาพลาสติกเหล่านี้จึงมุ่งเน้นให้มีผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ทนทาน และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวทางในการลดปริมาณทรัพยากรในการผลิตลงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
3. นำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบ เมื่อพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถ recycle ได้ จึงมีการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบต่อไป โดยสามารถจำแนกการ recycle ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ mechanical recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วมา recycle เป็นเม็ดพลาสติกและขึ้นรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้งาน และ feedback หรือ chemical recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบก๊าซและของเหลว
4. พลาสติกชีวภาพและวัตถุดิบทางเลือก พลาสติกชีวภาพถูกคิดค้นเพื่อช่วยให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น โดยพัฒนาจากวัตถุดิบหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงได้มีการคิดค้นการนำวัตถุดิบทางเลือกที่สามารถผลิตใหม่ได้ (Renewable feedstock) มาใช้ในการผลิตพลาสติก อาทิ Bio-based feedstock และการสังเคราะห์จากคาร์บอนไดออกไซด์
5. ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ทั้งตอบโจทย์เจ้าของผลิตภัณฑ์และสังคมไปพร้อม ๆ กัน เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น BASF ที่จับมือกับ Jaguar Land Rover ร่วมศึกษาการนำขยะมาผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์นอกจากนี้ SCG และ Betagro ได้ร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์บรรจุชิ้นส่วนไก่สดที่มีความเหนียว รับน้ำหนักได้ดี และทนทานเป็นพิเศษ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บางคนอาจคิดว่าการใช้พลาสติกมากขึ้น จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระยะยาว ในหลาย ๆ กรณี จะพบว่าการนำพลาสติกมาใช้ทำให้เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ที่เดิมเป็นโลหะมาเป็น polymer ทำให้มีน้ำหนักเบาลง มีผลทำให้สามารถลดการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน รวมถึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน อีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ การใช้พลาสติกในการผลิตฉนวนกันความร้อนสำหรับการก่อสร้างบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ ท่านที่เคยเดินทางไปในบางประเทศอาจมีโอกาสได้ใช้ธนบัตรที่ผลิตจาก polymer ยกตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ มาเลเซีย และแคนาดา แนวคิดในการใช้ polymer มาผลิตธนบัตรเกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยธนบัตรที่ผลิตจาก polymer มีความทนทานและมีอายุในการใช้งานที่ยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 2.5 เท่า ขึ้นไป นอกจากนี้ ธนบัตร polymer ยังมีการเคลือบผิวหลังการพิมพ์ จึงทำความสะอาดได้ง่าย ทั้งนี้ ธนบัตร polymer ที่หมุนเวียนและหมดสภาพการใช้งานจะถูกส่งกลับมาทำลายด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงสามารถนำไป recycle เพื่อประยุกต์ใช้ในลักษณะต่าง ๆ ต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>