​The Great Resignation : ปรับรู้ อยู่ร่วม กับการลาออกระลอกใหญ่

เมื่อประเทศส่วนใหญ่ยอมรับการเปลี่ยนสถานะของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic เป็น โรคประจำถิ่น หรือ Endemic การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงตลาดแรงงานก็กลับดีขึ้นด้วย ในกรณีของสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานและตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ในระดับที่ดีกว่าก่อนการแพร่ระบาดแล้ว อย่างไรก็ดี อาจารย์ Anthony C. Klotz แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M ระบุว่าตลาดแรงงานกำลังเผชิญกับการลาออกระลอกใหญ่ หรือ The Great Resignation จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว

Business woman carrying packing up all his personal belongings and files into a white cardboard box to resignation in modern office, resign concept

The Great Resignation เป็นคำยอดนิยมและมีการค้นหาทางออนไลน์แล้วกว่า 232 ล้านครั้ง1 สะท้อนจากการที่แรงงานในประเทศสหรัฐฯ ลาออกถึงเกือบ 69 ล้านคนในปีก่อน เพราะหลายปัจจัย ได้แก่ 1) เคยทนทำงานเดิมอยู่ จึงลาออกหลังการแพร่ระบาดยุติลง 2) เกิดภาวะหมดไฟ หรือ burnout 3) ทบทวนลำดับความสำคัญและคุณค่าของการทำงาน และ 4) ติดใจการทำงานทางไกลจึงไม่อยากกลับไปที่ออฟฟิศ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไป Gartner ประเมินว่าอัตราการเข้า-ออกงาน หรือ turnover rate สูงขึ้นร้อยละ 50-75 และนายจ้างใช้ระยะเวลาในการหาแรงงานนานขึ้นร้อยละ 18

ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Amazing If2 จึงเสนอให้นายจ้างหันกลับมารักษาแรงงานปัจจุบัน ด้วยการ 1) หารือเส้นทางอาชีพร่วมกับแรงงานโดยให้ความสำคัญกับความก้าวหน้ามากกว่าการเลื่อนตำแหน่ง 2) ทดลองทำงานต่างรูปแบบ อาทิ การสลับไปทำงานต่างทีมสัปดาห์ละหนึ่งวัน และ 3) ให้น้ำหนักกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานมากกว่าการวัดผลงานทีม เพื่อสนับสนุนให้แรงงานได้หมุนเวียนงานและกระตุ้นการสื่อสาร feedback พัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

แนวทางของบริษัท Microsoft3 เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการรักษาแรงงานและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน หัวใจสำคัญ คือ การเปลี่ยนจากการวัดระดับความผูกพัน หรือ engagement ของพนักงาน ซึ่งสั่นคลอนไปมากภายใต้บริบทใหม่ มาเป็นระดับความเจริญงอกงามในการทำงาน หรือ thriving ซึ่งวัดจากการเพิ่มพลังบวก หรือ empower แรงงานให้ทำงานที่มีคุณค่าและความหมาย โดยผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในด้านทรัพยากรบุคคลพบข้อเท็จจริงสามประการ คือ แรงงานที่ thriving 1) อยู่ภายใต้วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม มีความยืดหยุ่น และได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจในการตัดสินใจ ขณะที่ กลุ่มที่ไม่ได้เติบโตงอกงาม เผชิญการทำงานแบบไซโล มีระบบเคร่งครัด และขาดความร่วมมือ 2) มีความเชื่อมั่นว่าผู้บริหารนำให้งานสัมฤทธิ์ สนับสนุนเส้นทางอาชีพ และทำงานเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แต่ 3) อาจจะไม่ได้มีชีวิตและงานที่สมดุล หรือ work-life balance เสมอไป จึงต้องดูแลไม่ให้ทำงานหนักเกินควร

โดยสรุปแล้ว การจ้างงานที่ขยายตัวในภาพรวม ไม่ได้แสดงว่าแรงงานยังอยู่ที่ทำงานเดิมภายใต้กระแสการลาออกระลอกใหญ่ การปรับตัวของนายจ้างเพื่อรักษาแรงงานจะมีต้นทุนต่ำกว่าการจ้างแรงงานใหม่ในภาวะที่ตลาดตึงตัว โดยเปลี่ยนจากสร้างความผูกพัน เป็นส่งเสริมให้งอกงาม ผ่านการเพิ่มพลังบวกให้แรงงานสามารถพัฒนาตนเองด้วยการทำงานหลายหน้างาน มีส่วนร่วมในการสื่อสาร ทำงานได้ยืดหยุ่น มีความเชื่อมั่นต่อผู้บริหาร ตลอดจนมีชีวิตและงานที่สมดุล


ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2565


อ้างอิง :
1 Ann Kellett 2022, The Texas A&M Professor Who Predicted ‘The Great Resignation’
2 Helen Tupper & Sarah Ellis 2022, It’s Time to Reimagine Employee Retention
3 Dawn Klinghoffer & Elizabeth McCune 2022, Why Microsoft Measures Employee Thriving, Not Engagement



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย