นอกจากวิกฤตโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกวิกฤตหนึ่งที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญ ซึ่งนับวันปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งระดับน้ำทะเล และสภาพอากาศแบบสุดโต่ง ในเดือนพฤศจิกายนนี้ผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย จะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือการประชุม COP26 เพื่อหารือแนวทางที่แต่ละประเทศจะใช้ดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้กล่าวถึงเรื่องนี้กันค่ะ

businessman holding lightbulb with turbine and tree grow on coins. concept saving energy and finance accounting

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทย ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระบุว่า ไทยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยระหว่างปี 2542-2561 มูลค่าความเสียหายมีถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.4 แสนล้านบาท) รวมถึงในระยะต่อไปมีโอกาสสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศมากถึง 15% จากปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานและฝนจากมรสุมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุม COP26 ไทยเข้าร่วมในเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2535 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7-20% ของภาวะปกติก่อนปี 2563 และลดลงให้ได้ 20-25% ของภาวะปกติในอีก 50 ปีข้างหน้า สำหรับไทยภาคการขนส่งและภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมดที่ไทยปล่อย ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งและภาคพลังงานได้ตามเป้าหมายที่ 17%

ทำไมเราจึงต้องจับตามองการประชุมนี้? การประชุม COP26 ถูกมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำโลกจะใช้โอกาสนี้หารือกันว่า ได้ทำอะไรไปบ้าง เพียงพอหรือไม่ นับจากลงนามในความตกลงเมื่อปี 2558 ที่จะจำกัดให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยในการประชุมนี้ มีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2593 โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วจะทยอยประกาศเป้าหมายที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันให้ทุกประเทศต้องสนใจประเด็นนี้ เช่น สหภาพยุโรป เริ่มพูดถึงเรื่อง Carbon border ที่สินค้านำเข้าหรือส่งออกจะต้องมีรายงานกำกับว่าในกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเท่าไร ซึ่งบังคับใช้แล้วสำหรับสินค้ากลุ่มซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้า และในระยะต่อไปข้อกำหนดนี้จะถูกนำไปใช้มากขึ้นและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การประชุม COP26 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีทิศทางอย่างไรต่อไปเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความร่วมมือระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุง แก้ไข กำหนดนโยบายและมาตรการของประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคี ซึ่งไม่ได้ไกลเกินตัวของเราทุกคนแต่อย่างใด ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยภาครัฐเองควรเร่งผลักดันนโยบายที่เน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ (Decarbonization) ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโต สำหรับภาคธุรกิจเอง การปรับธุรกิจให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในระยะสั้นอาจมีผลกระทบบ้างในแง่ของต้นทุนในการปรับเปลี่ยน แต่จะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอนในระยะยาว เพราะท้ายสุดไม่มีประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นใหญ่หรือเล็ก ร่ำรวยหรือยากจน จะมีภูมิคุ้มกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หากไม่ปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือค่ะ


ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ. ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย