​ทำอย่างไรให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ทำธุรกิจได้ง่ายที่สุด ?

ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ นางปัณฑา อภัยทาน นางสาวพรพรรณ รุจิวาณิชย์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


ทิศทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศกำลังมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนตัวผู้นำหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ท่ามกลางความคาดหวังว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศจะคลี่คลายลง การลงทุนระหว่างประเทศจะสดใสขึ้นตามการบรรเทาลงของวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากการแจกจ่ายวัคซีนที่มีผลการทดสอบดีเยี่ยมเกิดขึ้นวงกว้างในเร็ววัน จึงถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมยิ่งที่ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการยกระดับให้ไทยก้าวสู่ 10 อันดับประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุดตามมาตรฐานของธนาคารโลก ในวันนี้จึงอยากเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อข้อเสนอซึ่งเปรียบได้กับเฉลยข้อสอบ ในมุมมองที่ประเทศต้นทางนักลงทุนมีต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อประเมินว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร

ก่อนอื่นขอทบทวนว่า รายงาน Ease of Doing Business Ranking ของธนาคารโลกสะท้อนว่า อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยปรับดีขึ้นในทุกด้านจนมาอยู่ในอันดับที่ 21 จากเกือบ 200 ประเทศ ในปี 2020 และปรับดีขึ้นชัดเจนในปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่มีการเก็งข้อสอบผ่านการติวเข้มของที่ปรึกษาจากธนาคารโลก โดยมิติที่มีคะแนนปรับดีขึ้นชัดเจน อาทิ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การขอส่งเสริมการลงทุน การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อการค้าดิจิทัล การทำงานของแรงงานต่างด้าว การให้ใบอนุญาตและรับรองลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ข้อเสนอแผนปฏิรูป 10 ประการ ของคณะทูตฯ (รายละเอียดในตารางด้านล่าง) ซึ่งครอบคลุมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่กระบวนพิธีศุลกากร การขอใบอนุญาตราชการ การขอรับสิทธิสนับสนุนลงทุน ไปจนถึงการคลี่คลายข้อพิพาทและการบังคับคดีล้มละลาย ซึ่งมุ่งเน้นที่จะแก้อุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน

ข้อเสนอคณะทูต สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี และญี่ปุ่น เทียบเคียงกับอันดับประเทศไทยในด้านการประกอบธุรกิจได้ง่ายของธนาคารโลก


น่าสังเกตว่าข้อเสนอเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แม้หลายประเด็นจะได้รับการขับเคลื่อน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การดำเนินการส่วนใหญ่มีผลต่อเศรษฐกิจไม่มาก และอาจยังไม่สามารถช่วยแก้ปมอุปสรรคและปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้เพียงพอ ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุงขั้นตอนกฎหมายและยกเลิกกฎหมายซ้ำซ้อนแล้วกว่า 1 พันฉบับ จากทั้งหมด 1 แสนฉบับ การเปิดใช้งานระบบประมวลภาษีศุลกากรล่วงหน้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่บางกรณียังมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการค้าชายแดน การจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำเป็นเว็บไซต์กลางสามารถทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลความต้องการของหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อ ป้องกันการทุจริต กระตุ้นตลาด และเพิ่มขีดความสามารถของเอกชน การปรับปรุงกระบวนการพิจารณาข้อพิพาทและคดีล้มละลายซึ่งช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาให้สั้นลงแต่ยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมด้านความชัดเจนและความโปร่งใสในการตัดสินคดีโดยเฉพาะการลดการใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสิน การเปิดใช้ Smart VISA Program เอื้อให้แรงงานต่างชาติที่มีฝีมือสามารถขอวีซ่าได้ระยะเวลา 4 ปี การขอใบอนุญาตอาหารและยา (อย.) ได้เริ่มใช้งานระบบการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ระบบอนุญาตโฆษณาอาหาร ระบบจดทะเบียนสถานประกอบการเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ โดยบริการบางด้านใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว แต่ยังมีคำขอค้างการพิจารณาอยู่จำนวนมาก เป็นต้น

หากต้องการให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุดในโลกตามที่ท่านทูตเสนอ โดยให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ลงรายละเอียดการดำเนินการให้บริการแก่ธุรกิจและประชาชน ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมให้เร่งผลักดันการปฏิรูปกฎระเบียบที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปกฎระเบียบ (Regulatory Impact Assessment : RIA) (2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานภาครัฐ และ (3) การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณะ ดังนี้


1. ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ เข้าสู่ภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการผลิตของไทย และเอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานไทย

1) ยกเลิกข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างแรงงานต่างชาติ เช่น การกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว

2) ใช้กระบวนการทำงานออนไลน์และพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูง เช่น การพัฒนาบริการขออนุญาตจัดทำวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อตรวจสอบประวัติและยืนยันตัวตนแรงงานต่างชาติ การพัฒนาแอปพลิเคชันและเชื่อมโยงข้อมูลรายงานตัวของแรงงานต่างชาติ

3) สร้างกลไกที่เอื้อให้เกิดการถ่ายโอนความรู้จากแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงไปสู่แรงงานไทย และการกระจายตัวของการจ้างแรงงานทักษะสูงไปยังสาขาเศรษฐกิจเป้าหมาย อาทิ การกำหนดสัดส่วนแรงงานต่างชาติทักษะสูงต่อแรงงานไทยสำหรับงานที่ใช้ความรู้เฉพาะด้าน และการกำหนดมาตรฐานสัญญาเพื่อการถ่ายโอนความรู้จากบริษัท/แรงงานต่างชาติ

4) พัฒนาระบบการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่แรงงานต่างด้าว


2. พัฒนาแพลตฟอร์มรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างภาครัฐ เพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณะ รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน

1) พัฒนาระบบฐานข้อมูลพื้นฐานของประชาชนโดยเน้นบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้งานบริการประชาชนมีความคล่องตัว มีต้นทุนต่ำ รวมถึงเอื้อให้เกิดการออกแบบและประเมินผลนโยบายที่ถูกต้องแม่นยำ อาทิ ข้อมูลสิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐาน ข้อมูลการโอนที่ดินและการประเมินภาษีที่ดิน เป็นต้น

2) การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลบริษัท เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับภาคธุรกิจและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม อาทิ ข้อมูลการให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี


3. สนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่บริบทเศรษฐกิจใหม่ (New Normal) ที่มีความท้าทายมากกว่าเดิม

1) เปลี่ยนการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านดิจิทัลจากเดิมที่ “สามารถทำได้เฉพาะวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้น (positive list)” เป็น “สามารถทำได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นกรณีที่ห้ามไว้บางรายการ (negative list)” เพื่อสอดรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สามารถสนับสนุนโมเดลธุรกิจที่คิดนอกกรอบให้เติบโตได้ เช่น Driverless car หรือ Sharing Economy

2) พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียน/ขออนุญาต/และตรวจสอบสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นลดความยุ่งยากและต้นทุนของกระบวนการทำงาน โดยการผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสินค้าที่พัฒนาหรือผลิตโดยใช้นวัตกรรม

3) ปลดล็อกข้อจำกัดด้านห้องปฏิบัติการ บุคลากร หรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบหรือพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยเปิดโอกาสให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม

4) พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงตลาดต่างประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมสู่ Digitalized Enterprise


หากไทยสามารถใช้โอกาสทองผลักดันข้อเสนอจากประเทศต้นทางการลงทุน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้วให้เกิดผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติ โดยอาศัยประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด การติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในโลก คงไม่ไกลความจริง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>