น.ส. อณิยา ฉิมน้อย
นายภูริวัฒน์ ตราเกียรติกุล
น.ส. อัจจนา ล่ำซ่ำ
น.ส. จารีย์ ปิ่นทอง
นายชนกานต์ ฤทธินนท์
ธนาคารแห่งประเทศไทยและ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

วันหนึ่งเราจะยังพกเงินสดกันอยู่หรือไม่ เส้นทางสู่สังคม (กึ่ง) ไร้เงินสดของประเทศไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร?

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล ทำให้สื่อการชำระเงินเปลี่ยนรูปแบบไป จากอดีตที่ใช้เบี้ยหอยในการจ่ายค่าสินค้า วิวัฒนาการมาเป็นเงินพดด้วง เหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จนมาถึงสื่อการชำระเงินที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)” ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต การโอนเงินและชำระเงินด้วย QR Code ผ่านมือถือ การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในการจ่ายค่าโดยสารหรือซื้อสินค้า

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต หรือมือถือ ขณะที่การถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มหรือสาขาธนาคารมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับแนวโน้มการเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดของโลก เห็นได้จากปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงจากการ เติบโต 9.8% (เฉลี่ยปี 2550 - 2555) เหลือเพียง 5.2% (เฉลี่ยปี 2556 - 2560) ขณะที่การใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 19% ต่อปี

แต่ยังคงมีคำถามว่า หากคนไทยเพิ่มการใช้ e-Payment มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว วันหนึ่งเงินสดจะถูกแทนที่ ทาให้ปริมาณเงินสดลดลงจริงหรือไม่ ข้อมูลระบบการช่าระเงิน 10 ปีล่าสุดจาก 20 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศส่วนใหญ่ (เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น) มีปริมาณเงินสดและ e-Payment เพิ่มขึ้นทั้งคู่ เว้นแต่ประเทศสวีเดนและ จีนเท่านั้นที่เห็นปริมาณเงินสดลดลง นอกจากนี้ งานศึกษาหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นบทบาทที่หลากหลายของเงินสด มากกว่าการเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เช่น ทุนส่ารองฉุกเฉินของครัวเรือน หรือในยามวิกฤตเศรษฐกิจ

หรือว่าเงินสดจะยังอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง? ทุกวันนี้คนไทยยังคุ้นชินกับการใช้จ่ายด้วยเงินสด โดยอาจไม่ทราบว่าเงินสดที่เราใช้กันอยู่มี “ต้นทุน” และแพงแค่ไหน ธนบัตรทุกใบมีวงจรชีวิตที่เริ่มต้นจากการผลิตที่โรงพิมพ์ธนบัตร ก่อนจะขนส่งไปยังภาคต่าง ๆ กระจายสู่สาขาธนาคารพาณิชย์และ ATM จนถึงมือประชาชน แล้วหมุนเวียนกลับมาทำลาย ทุกขั้นตอนที่กล่าวมานี้มีต้นทุนแฝงอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต การขนส่ง และการเก็บรักษา โดยในปีที่ผ่านมา ต้นทุนของการผลิตและขนส่งธนบัตรมีมูลค่ามากถึง 5 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามที่ว่าใครเป็นผู้แบกรับภาระนี้ และพวกเราจะช่วยลดต้นทุนนี้ได้อย่างไร?

คณะผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลความละเอียดเชิงพื้นที่ เพื่อฉายภาพการเดินทางของเงินสด ซึ่งบรรดาธนาคารพาณิชย์ ต้องขนย้ายธนบัตรจากศูนย์เงินสดของตนเองเพื่อไปกระจายสู่ตู้เอทีเอ็มและสาขาของตนทั่วประเทศ เมื่อเราซูมภาพไปที่ภาคเหนือตอนบน เราจะเห็นพื้นที่การวิ่งทับซ้อนกันของธนาคารพาณิชย์ในระยะเดินทางถนน 100 กิโลเมตร จากศูนย์เงินสดไปยัง ATM และสาขา (จุดในแผนที่) โดยสีน้ำเงินเข้มแสดงพื้นที่ที่ มีการวิ่งทับซ้อนที่สูงสุดถึง 5 สถาบันการเงิน สะท้อนการจัดสรรทรัพยากรที่อาจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ คณะผู้เขียนได้ศึกษาบริการ e-Payment ประเภทต่าง ๆ ของไทย โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ การใช้ e-Payment ในแต่ละพื้นที่และวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ e-Payment ของคนไทย โดยเฉพาะการโอนเงิน ผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 28.4 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 43 ของคนไทย รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมการโอนเงินของคนไทย ภายหลังธนาคารพาณิชย์ต่างทยอยประกาศ ลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบคำถามว่าคนไทย มีความพร้อมและมีการปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่สังคม (กึ่ง) ไร้เงินสดมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ดี ความพร้อมและการปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่สังคม (กึ่ง) ไร้เงินสดเสมือนเพิ่งเริ่มต้นและมีความท้าทาย อีกหลายด้านที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และธนาคารแห่งประเทศไทยใน ฐานะผู้ผลิตและจัดการธนบัตร รวมถึงเป็นผู้ดูแลระบบการชำระเงิน และวางนโยบายเพื่อกำกับดูแลผู้เล่นในระบบ
บทบาทหน้าที่ ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการชำระเงินนี้ควรเป็นอย่างไร? แล้วเราทุกคนจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางสู่สังคมไรเงินสดได้อย่างไร? คณะผู้เขียนขอเชิญชวนเข้ารับฟัง การนำเสนอผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง “The Journey to Less-Cash Society: Thailand’s Payment System at a Crossroads: เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด” ได้ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ใน หัวข้อ “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” วันที 24-25 กันยายน 2561 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World (รายละเอียดที่ www.bot.or.th/BOTSymposium2018)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย