​ก้าวใหม่ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (ตอนที่ 1)

นางสาวสุนารี คุปวานิชพงษ์
ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน


คุณรู้หรือไม่ว่าในการขอซื้อเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์เพื่อโอนออกไปชาระภาระในต่างประเทศในแต่ละครั้งผู้ขอทาธุรกรรมเงินตราต่างประเทศต้องทาอะไรบ้าง มีเอกสารอะไรที่มาเกี่ยวข้องบ้าง?

ในการทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์จะเริ่มจากลูกค้าติดต่อขอซื้อเงินตราต่างประเทศ โดยแจ้งวัตถุประสงค์กับธนาคารพาณิชย์ เช่น ชำระค่าสินค้านำเข้าให้แก่คู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะให้ลูกค้ากรอก application form ที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร และหากลูกค้าขอซื้อเงินตราต่างประเทศมากกว่า 50,000 ดอลลาร์ สรอ. ธนาคารพาณิชย์จะยื่นแบบฟอร์มอีกใบหนึ่งที่มีชื่อว่า แบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า FX Form ให้ลูกค้ากรอกด้วย ซึ่งใน FX Form จะให้ระบุรายละเอียด เช่น ข้อมูลผู้ทำธุรกรรม ประเภทธุรกรรม วัตถุประสงค์การทำธุรกรรม จำนวนเงิน อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น โดยลูกค้าและธนาคารพาณิชย์ต่างก็ต้องลงนามใน FX Form ดังกล่าว ซึ่ง FX Form นี้จะถือเป็นหลักฐานการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และข้อมูลทั้งหมดใน FX Form ธนาคารพาณิชย์จะนำมารายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อการตรวจสอบกำกับดูแล และเก็บเป็นข้อมูลสถิติของประเทศ

โดยการกรอก FX Form นี้ไม่ได้ทำเฉพาะธุรกรรมการขอซื้อเงินตราต่างประเทศเท่านั้น แต่ลูกค้าจะต้องกรอก FX Form ในทุกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศที่ทำกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมไปถึงธุรกรรมการขาย การฝาก การถอนเงินตราต่างประเทศ ลองประมาณดูสิว่าในปีๆ หนึ่ง ลูกค้าจะต้องกรอก FX Form ทั้งสิ้นกี่ใบ คงจะเป็นกระดาษกองใหญ่มหึมาที่มาพร้อมภาระ และต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ เพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนดขึ้น

ในมุมมองของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้ารายใหญ่ ที่ต้องทำกระบวนการดังกล่าวนี้มาโดยตลอดแล้วนั้น การกรอก FX Form จำนวนมาก ประกอบกับแบบฟอร์มที่กรอกก็มีความซ้ำซ้อนกันนี้ สร้างความไม่คล่องตัวอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ และก่อให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

แล้วในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่ภาคธุรกิจจะไม่ต้องแบกภาระดังกล่าวนี้อีกต่อไป จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทบทวนหลักเกณฑ์ภายใต้การกากับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจมากขึ้น (Ease of doing business) โดยได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้เอื้อประโยชน์แก่การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น ตามโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับลดเอกสารหลักฐาน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หนึ่งในข่าวดีของการผ่อนคลายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนมาดำเนินการคือ การยกเลิก FX Form ทำให้ต่อจากนี้ไปผู้ประกอบธุรกิจที่ทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าด้วยจำนวนเงินเท่าใดก็ตาม จะไม่ต้องกรอก FX Form อีกต่อไป เหลือเพียงแค่แจ้งวัตถุประสงค์ และรายละเอียดการขอทำธุรกรรมแก่ธนาคารพาณิชย์

ผู้อ่านคงมีคำถามว่า เมื่อยกเลิก FX Form ไป แล้วจะมีอะไรมาทดแทนเพื่อเป็นหลักฐานการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศหรือไม่ ลูกค้าจะมีสิ่งใดที่แสดงให้ทราบไหมว่าธนาคารพาณิชย์ได้ทำธุรกรรมถูกต้องตรงตามที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ หรือข้อมูลสถิติของประเทศจะหายไปหรือไม่ คำตอบก็คือ ธนาคารพาณิชย์จะต้องออก credit หรือ debit advice ที่มีข้อมูลที่จำเป็นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อเป็นหลักฐานการทำธุรกรรมให้แก่ลูกค้า และในส่วนข้อมูลที่เก็บเป็นสถิติของประเทศ ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่มีรายละเอียดครบถ้วนเช่นเดิมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ลูกค้าจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงภาระค่าใช้จ่ายในต่างประเทศ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบว่าการทำธุรกรรมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ลูกค้าแจ้งขอซื้อเงินตราต่างประเทศไว้ ซึ่งเดิมธนาคารพาณิชย์จะต้องประทับตราลงบนเอกสารดังกล่าวด้วย ดังนั้น การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในอีกเรื่องหนึ่งคือ การยกเลิกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประทับตราลงบนเอกสารดังกล่าว ทำให้ขั้นตอนและกระบวนการขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

จากการผ่อนคลายข้างต้น จะส่งผลให้ขั้นตอนการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศลดลงทั้งกระบวนการ (ตามแผนภาพ) นำมาซึ่งประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์จะได้รับ ทั้งในแง่ของความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรม ลดระยะเวลาการทำธุรกรรมที่เดิมเสียไปกับขั้นตอนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก อีกทั้ง ช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งค่าจ้างพนักงานในการจัดเตรียมเอกสาร ค่าจ้าง Messenger จัดส่งเอกสารให้แก่ธนาคารพาณิชย์ พนักงานมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อไปพัฒนางานด้านอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนให้กิจการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย