​Middle Income Trap: กับดักเศรษฐกิจที่รอการก้าวข้าม

​นางสาวแพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
นายณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3.5% ตามค่าเฉลี่ยปี 2555 – 2559 พบว่าไทยจะต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางไปอีกกว่า 30 ปี กุญแจในการก้าวพ้นกับดักให้เร็วขึ้นคือ การลงทุนที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือความเข้มข้นและต่อเนื่องในการปฏิบัติ อย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียง หัวข้อหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง นั่นคือ “การติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ของไทย” หรือหมายถึงการที่ไทยหยุดชะงักอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน ซึ่งสะท้อนว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด เช่น ขาดแคลนประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมที่เพียงพอที่จะเร่งให้อัตราการเติบโตของรายได้สูงเหมือนในอดีต คำถามที่ตามมาคือ ไทยจะติดกับดักดังกล่าวอีกนานแค่ไหน และมีแนวทางที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากกับดักได้อย่างไร

บทความนี้นำเสนอข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ สถานการณ์กับดักรายได้ปานกลางที่ไทยเผชิญอยู่ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อให้ไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 20 ปี ตามกรอบเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 - 2579


นิยามฉบับรวบรัด

“กับดักรายได้ปานกลาง” หมายถึงสภาวะของประเทศที่สามารถพัฒนาจากประเทศรายได้ต่ำ ไปเป็นรายได้ปานกลางได้สำเร็จในเวลาไม่นาน (คำว่า “รายได้” ในที่นี้ หมายถึงรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากร) แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจ หลังจากนั้นกลับชะลอลงมาก ส่งผลให้ประเทศดังกล่าวต้องติดอยู่ในฐานะรายได้ปานกลางต่อไปอีกหลายทศวรรษ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกระดับกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ ทั้งนี้ เกณฑ์การจำแนกประเทศตามระดับรายได้นั้น ถูกกำหนดโดยธนาคารโลก ซึ่งมีการทบทวนเกณฑ์แบ่งกลุ่มทุกปี โดยเกณฑ์ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2560 การจะอยู่ในกลุ่มของประเทศรายได้สูงต้องมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า 12,235 ดอลลาร์ สรอ.

จากเกณฑ์ดังกล่าว พบว่าไทยเลื่อนฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2519 อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อหัวของไทยในปี 2559 ยังอยู่ที่ 5,640 ดอลลาร์ สรอ. กล่าวคือ ไทยติดอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางมาแล้วถึง 40 ปี ยิ่งไปกว่านั้น จากการคำนวณของผู้เขียนโดยใช้เกณฑ์แบ่งกลุ่มรายได้ของธนาคารโลกด้วยอัตราการขยายตัวต่อปีที่ 1% (ค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง) และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3.5% (ค่าเฉลี่ยปี 2555 – 2559) พบว่าไทยจะต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางไปอีกกว่า 30 ปี


ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างไร

ข้อมูลอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP growth) และรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) แสดงให้เห็นว่าไทยมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางจากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นช้า และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทยอยลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 1)

ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจ พบว่าไทยมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ติดกับดักรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน โดยปัจจัยสำคัญได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันที่ยังไม่เพียงพอ สะท้อนจากค่าเฉลี่ย Global Competitiveness Index ในปี 2553 - 2559 ของไทยเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูง ที่พบว่ามีหมวดที่ไทยได้คะแนนต่ำถึง 4 หมวด (รูปที่ 2) ซึ่งคะแนนประเมินในระดับต่ำของหมวดเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน และสื่อให้เห็นถึงอุปสรรคต่อการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น เริ่มจากความพร้อมด้านเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนหนึ่งจากความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เพียงพอทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ทำให้ความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติไม่ดีนัก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ระดับนวัตกรรมโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากค่าใช้จ่าย R&D ของไทยในปี 2558 ที่ระดับ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก ยิ่งไปกว่านั้น สองปัจจัยข้างต้นยังถูกเหนี่ยวรั้งเพิ่มด้วยปัญหาด้านการศึกษา สะท้อนจากการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่อยู่เพียงระดับมัธยมต้น (ประมาณ 8 ปี ในปี 2559) ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่การศึกษาเฉลี่ยอยู่ระดับมัธยมปลายขึ้นไป ทำให้พัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปอย่างช้าๆ จากพื้นฐานด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้ออำนวย และท้ายที่สุด คะแนนด้านสถาบันในระดับต่ำ สื่อว่าประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐและเสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง จึงส่งผลเพิ่มเติมให้การดึงดูดการลงทุนใหม่ของไทยทำได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันแล้ว อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยข้อมูลล่าสุดปี 2558 จาก Central Intelligence Agency (CIA) สะท้อนว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP สูง อาทิ สหรัฐฯ 79.7% ญี่ปุ่น 71.4% ไต้หวัน 66.9% (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 63.6%) และมีสัดส่วนภาคเกษตรกรรมต่อ GDP ต่ำ อาทิ สหรัฐฯ 1.1% ญี่ปุ่น 1.2% ไต้หวัน 1.3% (ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 5.9%) ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยมีสัดส่วนภาคบริการเพียง 52.7% แต่ยังมีสัดส่วนภาคเกษตรกรรมถึง 13.3% ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้าสู่หมวดที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หากต้องการยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง


สิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่าปัจจัยน่ากังวลที่ส่งผลให้ไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนั้น ล้วนเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานในการแก้ไขปัญหาและสั่งสมเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขัน โดยความพยายามในการแก้ไขปัญหาในอดีตอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากข้อจำกัดด้านนโยบายรัฐที่ขาดความต่อเนื่อง รวมถึงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ระบบการศึกษา และรูปแบบการลงทุนที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

กุญแจสำคัญของการพัฒนาดังกล่าวคือ การลงทุนที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นโยบายภาพรวมของไทยในปัจจุบัน นับว่าได้มีความพยายามที่จะมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว เช่น การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การผ่อนปรนและปรับลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนวัตกรรม สะท้อนจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาฐานะประเทศไปสู่กลุ่มรายได้สูง ผ่านการพัฒนาศักยภาพคนให้เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ หรือจะเป็นการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งเน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี กุญแจที่มีอยู่จะสามารถไขประตูเพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูงได้หรือไม่ หรือจะติดขัดเช่นในอดีตขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและต่อเนื่องในการปฏิบัติอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการสร้าง Mindset ให้กับทุกภาคส่วนในประเทศจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้การพัฒนาของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐต้องหมั่นทบทวนและลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่องและมุ่งพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรเตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาเท่าทันองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการรับโอนความรู้ที่ได้จากการลงทุนของต่างประเทศ หรือจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หากทำได้สำเร็จ เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถขยายตัวในระดับศักยภาพที่ 5% ได้ (ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปีตามเป้าหมายที่ประเทศคาดหวังไว้ และไม่กลับไปติดอยู่ในวังวนของกับดักรายได้ปานกลางอีก

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย