หลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบ

นางสาวภัทรมน พลพิพัฒนพงศ์
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

ในบทความเมื่อเดือนกันยายน ท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบเกี่ยวกับบทเรียนจากวิกฤติการเงินโลกกันไปแล้ว ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการออกหลักเกณฑ์ทั้งในเชิงป้องกันเพื่อลดโอกาสที่สถาบันการเงินจะประสบปัญหาและในเชิงแก้ไขเพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ในคราวนี้จะขอเล่าถึงแนวทางของสากลในการป้องกันการเกิดวิกฤติการเงินและเสริมสร้างความมีเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงิน

ก่อนอื่นอยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพว่าท่านกำลังสัญจรอยู่บนท้องถนน แล้วมีรถเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันหรือมีรถจอดเสีย แน่นอนว่าก็จะทำให้การจราจรที่ติดขัดอยู่แล้วยิ่งติดขัดเพิ่มขึ้น และถ้ารถที่เสียหรือชนเป็นรถบรรทุกหรือรถพ่วงนั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อรถคนอื่นบนถนน และยิ่งต้องใช้เวลานานในการเคลื่อนย้ายแก้ไขปัญหา ผู้ใช้รถใช้ถนนก็คงต้องใช้เวลามากขึ้นในการไปถึงจุดหมาย ระบบสถาบันการเงินก็ไม่ต่างอะไรกับระบบการจราจร หากเปรียบธนาคารพาณิชย์เป็นรถยนต์บนถนน ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ก็เปรียบเสมือนรถบรรทุก หรือหากเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีบริษัทลูกอีกหลายบริษัทก็คงคล้ายกับรถพ่วง หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบคงไม่เป็นเพียงแค่ประชาชนซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์นั้นเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบไปถึงผู้ใช้บริการทางการเงินคนอื่น ๆ ด้วย

จากแนวคิดนี้ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ก็ได้ออกหลักเกณฑ์กากับดูแล Global Systemically Important Banks (G-SIBs) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งกำหนดวิธีการระบุว่าธนาคารพาณิชย์ใดมีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก รวมถึงกำหนดแนวทางการดูแลธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นเพิ่มเติม เพื่อให้มีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาและลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น และระบบการเงินโลก

โดยปัจจัยที่ BCBS ใช้ในการระบุว่าธนาคารพาณิชย์แห่งใดจะเป็น G-SIBs มี 5 ด้าน ได้แก่ 1. ปริมาณธุรกรรมระหว่างประเทศ 2. ขนาดของสินทรัพย์ 3. ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถาบันการเงินอื่น ซึ่งจะทำให้ผลกระทบกระจายไปสู่ภาคการเงินของประเทศต่าง ๆ ในวงกว้างได้ 4. การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นอาจไม่สามารถให้บริการทดแทนได้ เช่น การเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในระบบการชาระเงิน และ 5. การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือโครงสร้างการดำเนินงานที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้มีความยากในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง BCBS ก็ใช้ปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้นระบุรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เป็น G-SIBs และได้เปิดเผยรายชื่อ G-SIBs ให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ทราบตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา และมีการทบทวนรายชื่อเป็นประจาทุกปี โดยในปีล่าสุดก็มีรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเช่น Citigroup, JP Morgan Chase, Barclays เป็นต้น

เมื่อระบุได้แล้วว่าธนาคารพาณิชย์ใดเป็น G-SIBs ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นก็จะต้องมีความแข็งแกร่งมากกว่าธนาคารอื่น โดย BCBS กำหนดให้ G-SIBs ต้องดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนเพิ่มเติม ในรูปของส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าธนาคารอื่น ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของธนาคารพาณิชย์แห่งนั้น หากสำคัญมากก็ต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มมาก หากสำคัญรองลงมาก็ดารงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ ที่เข้มข้นกว่าธนาคารอื่น อาทิ การรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ถี่ขึ้น เป็นต้น

นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญระดับโลกแล้ว BCBS ยังมีแนวคิดว่าในระดับประเทศก็ควรจะมีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน จึงได้ออก Framework for dealing with domestic systemically important banks (D-SIBs) เมื่อเดือนตุลาคม 2012 ซึ่งเป็นกรอบกว้าง ๆ ให้แต่ละประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศของตนเอง และมีแนวทางกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น โดยกรอบดังกล่าวใช้แนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับของ G-SIBs ต่างกันก็ตรงที่ D-SIBs เน้นเพียงความสำคัญต่อระบบการเงินภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศก็ได้เริ่มนาหลักเกณฑ์ D-SIBs นี้มาใช้กันบ้างแล้ว เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ในส่วนของไทย เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบ (D-SIBs) เช่นกัน เพื่อดูแลธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น ให้มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง อันจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่เป็น D-SIBs ของไทยก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ BCBS และหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่า สิ่งที่ผู้กำกับดูแลทั้งในประเทศและต่างประเทศพยายามดำเนินการก็คือ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบดูแลตัวเองให้มีความเข้มแข็งโดยมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น จะได้ไม่เกิดเหตุขัดข้องกับธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น ประชาชนก็จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดเหมือนกับการจราจรกรุงเทพในช่วงฤดูฝนเช่นนี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย