​กลไกแก้ปัญหาสถาบันการเงินยกระดับกำกับดูแลสู่สากล

​น.ส. ธนัชพร ตระกูลวรสิน
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

จากสองบทความในเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ท่านได้ทราบถึงบทเรียนจากวิกฤติการเงินโลกและการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบให้มีความแข็งแกร่ง ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาเพื่อเป็นแนวทางเชิงป้องกันแล้ว สำหรับบทความนี้ จะขอกล่าวถึงแนวทางในเชิงแก้ไขที่เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าให้มีกลไกรองรับการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและเป็นระบบหากเกิดเหตุขึ้น

หากย้อนไปในวิกฤติต้มยากุ้งปี 2540 พบว่า การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยนั้น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาบริการทางการเงินให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก และการลดภาระต่อภาครัฐโดยให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับความเสียหายในผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อน ดังเช่นการลดทุนจดทะเบียนก่อนที่ทางการจะเข้าแทรกแซงในภายหลัง การตั้งธนาคารเพื่อรับโอนสินทรัพย์ดีมาบริหารจัดการ และการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหารงานต่อ แต่หากในขณะนั้นมีการเตรียมการในการเข้าแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าอย่างเพียงพอ เช่น มีกฎหมายรองรับการดำเนินการต่าง ๆ และมีการกำหนดผู้รับความเสียหายที่ชัดเจนก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น และไม่เป็นภาระต่อประชาชนมาก

บทเรียนที่ได้รับจากวิกฤติปี 2540 และวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ทาให้ทางการหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการวางรากฐานแนวทางเชิงป้องกันและแนวทางเชิงแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่อาจกระทบต่อระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวทางเชิงป้องกันที่ทางการไทยดำเนินการ คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลด้านเงินกองทุนให้เพียงพอรองรับความเสียหายได้มากขึ้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอรองรับการไหลออกของแหล่งเงินและภาระผูกพันต่าง ๆ ภายใต้ภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีนัยสำคัญต่อระบบที่เข้มขึ้น การตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันการเงินโดยเน้นธุรกรรมที่สำคัญ ซึ่งเป็นการกำกับดูแลที่มองไปข้างหน้า รวมถึงมีการกำกับดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินที่เข้มขึ้น (Market conduct) และยกระดับเรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน เพื่อให้การกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนของเศรษฐกิจโดยรวม ไม่เพียงแต่ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทางการยังให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในประเทศ โดยมีเวทีการประชุมร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อติดตามดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ในช่วงเวลาที่สถาบันการเงินไทยมีฐานะมั่นคงและเข้มแข็งอยู่เช่นในปัจจุบัน นอกเหนือจากที่ทางการได้มีการใช้เครื่องมือในเชิงป้องกันแล้ว ทางการควรมีกลไกในการดูแลระบบโดยรวมเพื่อเป็นรากฐานของแนวทางเชิงแก้ไขไว้เผื่อรองรับการแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจในอนาคตด้วย โดยมีการกำหนดกฎหมายที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้าเพื่อสร้างกลไกแก้ไขปัญหา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดาเนินการได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยสาระสำคัญของกฎหมายควรครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการพิจารณาและดำเนินการแก้ไขปัญหา ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เงื่อนไขการเข้าแก้ไขปัญหา เครื่องมือแก้ไขปัญหา แหล่งเงินในการแก้ไขปัญหา และการชดเชยความเสียหาย ซึ่งกลไกทั้งหมดนี้จะต้องมีความชัดเจนและยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวมของไทยให้สอดคล้องกับสากล และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินไทย รวมถึงลดภาระต่อภาครัฐและประชาชนด้วย

แนวทางเชิงแก้ไขที่กล่าวมาข้างต้นของไทยนั้นมีความสอดคล้องกับกรอบการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ Financial Stability Board (FSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่ทำหน้าที่ในการติดตามและให้คำแนะนาเกี่ยวกับระบบการเงินที่ได้นำเสนอในปี 2557 ถึงแนวทางเชิงแก้ไขในลักษณะของกรอบการเตรียมการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินหากประสบภาวะวิกฤติที่จะกระทบต่อระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวปฏิบัติการเข้าแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ทันการณ์และราบรื่น ไม่ส่งผลกระทบลุกลามต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน อันจะช่วยลดภาระต่อภาครัฐและภาษีของประชาชน ซึ่งกรอบดังกล่าวให้ความสำคัญของการมีกฎหมายเกี่ยวกับ (1) การมีหน่วยงานทำหน้าที่ในการเข้าแก้ปัญหาที่ชัดเจน (2) การมีกลไกการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันการณ์ (3) การกำหนดให้สถาบันการเงินเตรียมแผนรองรับการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง (Recovery plan) (4) การเตรียมแผนรองรับการแก้ไขปัญหาโดยทางการ (Resolution plan) และ (5) การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันทางการของสหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้นำกรอบของ FSB มาเป็นแนวทางในการกำหนดกฎหมายด้วย

แนวทางเชิงป้องกันและแนวทางเชิงแก้ไขของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นการรองรับให้ระบบสถาบันการเงินไทยพร้อมเข้าสู่โครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ในปี 2561 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภาคการเงิน และนำมาซึ่งระบบสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง โปร่งใส และมีกรอบการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ความสอดคลองกับมาตรฐานสากล

ดังนั้น แนวทางที่ประเทศไทยมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าในยามที่ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจมีฐานะมั่นคงและเข้มแข็งนั้น ไม่เพียงแต่เพื่อเข้ารับการประเมินภาคการเงินเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัยให้กับ ผู้ฝากเงิน ภาคธุรกิจ และประชาชนด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย