ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยเหตุการณ์ด้านภูมิอากาศเกิดขึ้นมากกว่า 140 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง $7,719 ล้าน PPP หรือคิดเป็น 0.82% ของ GDP ผลการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่า ในอนาคต ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และความแปรปรวนของปริมาณฝน รวมถึงตัวแปรภูมิอากาศอื่น ๆ ทั้งเชิงพื้นที่และเวลา หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศที่อาจเกิดบ่อยครั้งขึ้นและจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และเหตุการณ์ที่มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ที่ส่งกระทบแบบสะสมและเพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนสร้างความเสียหายต่อหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ ถึงแม้ว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.9 ของโลก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับชุมชน บทความนี้วิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งนำเสนอปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย
ผู้เขียน
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช
รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย
ดร.อัศมน ลิ่มสกุล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งจะจัดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย