​โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง


บทคัดย่อ


ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเศรษฐกิจและสังคมไทยจำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันมีความเปราะบางที่สั่งสมมายาวนานในหลายมิติ ประกอบกับการปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่วิกฤตโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย ก็ได้ซ้ำเติมความเปราะบางต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในสังคมไทยที่มีความแตกต่างทางความคิด มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม ความไม่แน่นอนและความรุนแรงทางการเมือง รวมถึงอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่จะเหนี่ยวรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนเครือข่ายความมั่นคงทางสังคมอีกด้วย

บทความนี้สรุปและหยิบยกตัวอย่างของความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยในมิติต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกใหม่ และนำเสนอประเด็นความเปราะบางในสังคมไทยที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดจากโครงการวิจัย “คิดต่างอย่างมีภูมิ” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มุ่งเข้าใจภูมิทัศน์ของความ “คิดต่าง” ของคนในสังคม และปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้ความ “คิดต่าง” ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

การชี้จุดเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกใหม่นี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเข้มแข็งและสังคมไทยที่มีความสมานฉันท์ อันจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีที่ยั่งยืนของคนไทย


ผู้เขียน

สุพริศร์ สุวรรณิก
ธนิสา ทวิชศรี
ฐิติ ทศบวร
อาชว์ ปวีณวัฒน์
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego




บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจะจัดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย