​นโยบายการเงินแบบบูรณาการ : รังสรรค์พลังจากการผสานเครื่องมือ

การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบาย เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการดูแลเศรษฐกิจท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงสูงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องเร่งประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น การพัฒนากรอบแนวคิด Integrated Policy Framework (IPF) เพื่อวิเคราะห์การผสมผสานเครื่องมืออย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงและข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือ รวมถึงการ trade-off ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นและยาวด้วย การคิดวิเคราะห์แบบองค์รวมนี้จะช่วยให้สามารถใช้เครื่องมือแก้ปัญหาได้ตรงจุดและจัดลำดับการใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม โดยไม่คาดหวังผลลัพธ์จากเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไป ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การพัฒนากรอบแนวคิด IPF ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือวิเคราะห์ที่ซับซ้อน บทความนี้จะเสนอแนวคิดและการประยุกต์ใช้เครื่องมือภายใต้กรอบ IPF รวมถึงมุ่งพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคที่เชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินการคลังของประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งเอื้อต่อการวิเคราะห์นโยบายที่หลากหลาย และนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมในบริบทของไทย เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่เศรษฐกิจต้องเผชิญในระยะต่อไป


ผู้เขียน

ศวพล หิรัญเตียรณกุล
ดร.นุวัต หนูขวัญ
พงศ์พิชย์ อมาตยกุล
ทศพล อภัยทาน
นลิน หนูขวัญ
ณัฐนิชา เทพพรพิทักษ์




บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้บริบทใหม่” ซึ่งจะจัดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย