​ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ : ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว หลายภาคส่วนมีความกังวลถึงความยากจนของครัวเรือนสูงอายุและความยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐอยู่หลายระบบและสามารถครอบคลุมคนไทยแทบทั้งหมด แต่ก็พอเป็นที่ทราบกันว่า รายได้จากระบบเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุหลาย ๆ กลุ่ม บทความนี้วิเคราะห์ถึงภาพใหญ่ของระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐ ทบทวนถึงโจทย์ที่แท้จริงที่ระบบเหล่านี้ต้องตอบ ต้นเหตุของความไม่เพียงพอ ทางเลือกต่าง ๆ และผลกระทบของทางเลือกนั้น ๆ โดยศึกษาถึงระบบประกันสังคมภาคบังคับและระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเชิงลึก และได้พัฒนาแบบจำลอง Overlapping Generations Model (OLG) เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายรายได้ผู้สูงอายุ อาทิ หากเงินกองทุนชราภาพของสำนักงานประกันสังคมหมดลงในอีกสี่สิบปีข้างหน้า เมื่อวันนั้นมาถึง รัฐจะมีทางเลือกเพื่อดำรงเสถียรภาพกองทุนอย่างไรบ้าง หรือหากเปรียบเทียบระหว่างนโยบายที่ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็นระดับเส้นความยากจนของประเทศสำหรับผู้สูงอายุทุกคน กับนโยบายที่ปรับเพิ่มแบบคัดกรองให้เฉพาะผู้ที่ยังได้รับบำนาญในระดับต่ำ ทางเลือกเหล่านี้จะมีผลต่อความเพียงพอ การกระจายรายได้และความยั่งยืนทางการคลังของตัวระบบอย่างไร รวมถึงหากรัฐต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในการบริโภค การทำงานและการออมอย่างไร แบบจำลอง OLG ที่พัฒนาขึ้นพยายามสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจ ระบบรายได้ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ตามข้อมูลจริงตั้งแต่ช่วงปี 2543 ถึงปัจจุบัน และประเมินสถานการณ์ไปในอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้า ผลเบื้องต้นพบว่า โครงสร้างรายรับรายจ่ายของทั้งภาครัฐและกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีความไม่ยั่งยืน หากกองทุนชราภาพยังไม่มีการปฏิรูป เมื่อเงินกองทุนหมดลง รัฐจะต้องเลือกระหว่างการลดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะกระทบผู้ที่รับเงินบำนาญอยู่ หรือขึ้นอัตราสมทบซึ่งจะกระทบแรงงานรุ่นหลัง นอกจากนี้ หากรัฐยังคงวินัยทางการคลังโดยให้มีเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจไม่สูงนัก แม้ยังไม่ได้ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพ รัฐก็จำเป็นต้องมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น และหากรัฐปรับขึ้นเบี้ยยังชีพเท่าระดับเส้นความยากจนสำหรับผู้สูงอายุทุกคน โดยเลือกใช้การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อมาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ ผลจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นก็จะกลับมากระทบต่อผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้นโยบายนี้ไม่ได้ลดความยากจนมากเท่าที่ตั้งใจไว้


ผู้เขียน

ดร.นฎา วะสี
ดร.พิทวัส พูนผลกุล
ชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
รศ. ดร.พรพจ ปรปักษ์ขาม




บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “การออกแบบนโยบายเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัย” ซึ่งจะจัดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย