ด้วยความที่สหรัฐฯมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ผู้ที่สนใจความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ตามเนื้อเพลงของพี่เบิร์ดที่ว่า ”ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้”
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผมได้รับจากนักลงทุน คือ การต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
มองย้อนไปในอดีต ต้องบอกว่าประวัติศาสตร์ยืนอยู่ตรงข้ามกับเฟด บทความ Managing Disinflations โดย Stephen Cecchetti และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ รายงานว่า ตั้งแต่ปี 1950 ทุกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเอาเงินเฟ้อลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางเยอรมัน และธนาคารกลางอังกฤษ จะจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเสมอ
เทียบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดรอบนี้กับในอดีต การปรับรอบนี้มีขนาดที่เร็วและแรงเป็นลำดับสอง รองจากสมัยประธาน Paul Volcker เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เท่านั้น ซึ่งครั้งนั้นจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง และส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ไม่นับว่าเราเห็นปรากฏการณ์ Inverted yield curve (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว) ในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์รองรับ แต่ในแง่ของสถิติ แทบทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ Inverted yield curve เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในเวลาไม่เกิน 20 เดือน
นอกจากนี้ ดัชนี Leading Economic Index (LEI) ที่จัดทำโดยบริษัท Conference Board ซึ่งทำนายการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐๆถูกต้องทุกครั้งตั้งแต่ปี 1959 บอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้