ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร?: วิเคราะห์จากมุมมองการนำเข้าสินค้าทุน ตอน 2

แจงสี่เบี้ย No. 8 | 16 พฤษภาคม 2566

“We are in an economy where it is no longer possible to produce certain goods in a single country” [1] เราอยู่ในเศรษฐกิจที่ไม่สามารถผลิตสินค้าประเภทในประเทศเดียวได้อีกต่อไปที่สะท้อนถึงความสำคัญ ความเชื่อมโยงและความได้เปรียบของการผลิตในห่วงโซ่อุปทานโลก บทความตอน 2 นำเสนอระดับการใช้เทคโนโลยีในการผลิตในแต่ละสาขาธุรกิจของไทยในระดับจุลภาค และคาดการณ์ถึงจุดยืนการผลิตของไทยในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกยุคหลังโควิด-19 และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

chaengsibia column no.8 cover 16 May 2023 industry

ภาคการผลิตไทยที่ลงทุนยกระดับเทคโนโลยีแข่งขันได้ และอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก

 

หากพิจารณาการใช้เทคโนโลยีการผลิตของธุรกิจไทยในระดับจุลภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ โดยใช้ข้อมูลการนำเข้าสินค้าทุนตามพิกัดศุลกากรในระบบฮาร์โมไนซ์ของกรมศุลกากร และข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ด้วยวิธี CrossTabs analysis สรุปได้ว่า (รูป F1)

(1) ภาคอุตสาหกรรมใช้สินค้าทุนสูงทั้งการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยนำเข้าทุนเฉลี่ยปีละ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (50% ของมูลค่านำเข้าสินค้าทุนทั้งหมด หรือ 17.1% ของมูลค่าผลผลิตภาคตนเอง)รองลงมาคือ ภาคการค้า 14.2% และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ 12.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสัดส่วนนำเข้าสินค้าทุน (47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) อยู่ที่ 10% ของ GDP รวม[2] ในส่วนของภาคการผลิต สาขาที่ใช้ทุนสูงสุด คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง และการผลิตเครื่องมือ/เครื่องจักร

(2) ภาคบริการสาขาการค้าใช้สินค้าทุนในอันดับรองลงมา มูลค่าเฉลี่ยปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 25% ของการนำเข้าสินค้าทุนทั้งหมด สาขาการค้าส่งลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์มากกว่าการค้าปลีก แต่ภาคค้าปลีกลงทุนด้านคอมพิวเตอร์มากกว่าเป็นผลจากการเติบโตของการตลาดออนไลน์และโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ส่วนสาขาขนส่งและโลจิสติกส์ลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ในสัดส่วนสูง เพื่อรองรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปจับจ่ายสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด และเป็นที่น่าสังเกตว่า สาขาขนส่งทางอากาศจัดซื้อเครื่องบินใหม่ครั้งใหญ่หลังจากธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัว
(3) ภาคบริการอื่นๆ ใช้สินค้าทุนค่อนข้างน้อยเทียบกับภาคอื่นๆ แต่สาขา ICT มีการลงทุนในสินค้าคอมพิวเตอร์ในสัดส่วนสูงกว่าสาขาบริการอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของภาคส่วนต่างๆ แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเทียบกับภาคอุตสาหกรรม

F1

ภาคการผลิตใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงติดอันดับที่ 12 ของโลก

เมื่อเจาะลึกการนำเข้าสินค้าทุนของไทยเฉพาะประเภทหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (หมวดHS847950) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงานซ้ำ ๆ ช่วยบรรเทาแรงงานมนุษย์ และในงานที่ต้องตัดสินใจ เช่น การตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย[3] ในปี 2022 มีบริษัท 524 รายนำเข้าหุ่นยนต์มูลค่า 1,963.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าเป็นหลัก กระจุกตัวในสาขาการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการผลิตเครื่องจักร (รูป F2) สอดคล้องกับ “World Robotics Report 2022” [4] (รูป F3) ที่ชี้ว่าในปี 2021 ไทยติดอันดับที่ 12 ของโลกที่ติดตั้งใหม่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมถึง 3,900 หน่วย เพิ่มขึ้น 36% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบไทยตื่นตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งการศึกษาในอดีตพบว่า “โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50”[5]
 

เอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย 74% ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ติดตั้งใหม่ทั้งหมดในปี 2021 อยู่ในเอเชีย จีนเป็นประเทศที่ติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่สูงสุดคือ 268,195 หน่วย (ประมาณ 50% จากทั่วโลกจำนวน 517,385 หน่วย

F2-F3

เอเชียรวมทั้งไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการผลิตในห่วงโซ่อุปทานโลกจากจุดแข็งปัจจัยพื้นฐาน และทำเลที่ตั้ง
 

งานวิจัยของ PWC (2022)[6] ชี้ว่าปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคต ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีโอกาสเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญปรับเปลี่ยนระบบห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นให้รับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดในอนาคตได้
 

ภายใต้กระแสการโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานโลกที่เป็นผลจากพลวัตการค้าโลกและโรคระบาด ผลวิจัยของ KPMG (2021)[7] ชี้ว่า “เอเชียและ ASEAN ถูกจัดให้เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า” โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ (cost of labour, USD per hour ไทย 3.2 เยอรมนี 49.4 และสิงคโปร์ 27) มีความพร้อมด้านแรงงาน และมีความสะดวกในการจัดตั้งฐานการผลิต เนื่องจากมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีท่าเรือและสนามบินที่สำคัญในภูมิภาค และมีการเชื่อมต่อทางฐานการผลิตทั้งทางถนนและทางรถไฟที่มั่นคง (รูป F4) ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคและโลกได้ ช่วยผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกได้ โดยบริษัทหลายแห่งได้ให้ความสนใจลงทุนเพื่อจัดตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม ไทย และอินเดีย

F4

กรณีของไทย มีความได้เปรียบทางที่ตั้งทางภูมิศาสตร์คือ อยู่ใจกลางของ ASEAN เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์เหมาะสมเป็นศูนย์กลางแบบ one stop service[8]  และจากผลการสำรวจประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจของ U.S. News and World Report 2022[9]  สอบถาม 4,500 บริษัททั่วโลก จากเกณฑ์ 5 ด้าน คือ ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ระเบียบราชการ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากจีน และอินเดีย และการผลิตในไทยมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมั่นคง และเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ได้ โดย ASEAN จะกลายเป็นตลาดภูมิภาคที่เติบโตเร็วสุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 30 ปี[10]
 

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น คาดว่าการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ เป็นสาขาที่สามารถยืนอยู่ได้ในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะยานยนต์ที่ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้ผลิตจากจีน เกาหลีและญี่ปุ่นในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานผลิตรถยนต์ EV ในระยะข้างหน้า[11]
 

แต่ไทยยังมีความท้าทายหลายข้อ เช่น (1) การพัฒนากำลังแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะทักษะด้าน STEM ให้ทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ (2) การสร้างโอกาสให้ SMEs เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยการสนับสนุนเงินทุน ความรู้และนวัตกรรม และสร้างมาตรฐานการผลิตที่เป็นมาตรฐานและยั่งยืนที่คำนึงสิ่งแวดล้อม (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์-Net zero emissions) และแรงงานเท่าเทียม และ (3) การยกระดับกระบวนการผลิตสินค้า/บริการให้มีมูลค่าสูงและแข่งขันได้ และการขยายสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกให้มากขึ้น

 


Endnotes:

[1] Sébastien Jean, Director, Centre d'études prospectives et d'informations internationales (CEPII) (3 May 2020),. Quotes from the international community in response to COVID-19 and its impact on world trade, WTO
[2] เสาวณี จันทะพงษ์ และอโนทัย พุทธารี (2023), ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? วิเคราะห์จากมุมมองการนำเข้าสินค้าทุน: ตอน 1, คอลัมน์“แจงสี่เบี้ย” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 6/2023, 4 เม.ย.
[3] หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสามารถทำงานได้หลากหลายตั้งแต่การขนถ่ายวัสดุ หยิบและวาง ตรวจสอบ ประกอบ บรรจุ จัดเรียงพาเลท ไปจนถึงตกแต่งชิ้นส่วน หุ่นยนต์ถูกออกแบบมา เพื่อให้ทำงานซ้ำ ๆ และบรรเทาแรงงานมนุษย์จากงานที่ต้องใช้กำลังมาก นอกจากนี้ หุ่นยนต์สามารถติดตั้งแมชชีนวิชั่นและระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบแบบเรียลไทม์ (universal-robots.com) 6 ตัวอย่างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ (universal-robots.com)
[4] International Federation Robotics (IFR) (2022), World Robotics Report: “All-Time High” with Half a Million Robots Installed in one Year, World Robotics Report 2022, 13 Oct
[5] Praornpit Katchwattana (2023), ศักยภาพ vs. ความท้าทายของ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย” กับก้าวย่างสำคัญสู่ความเป็นหนึ่งในระดับภูมิภาค, Salika, Knowledge Sharing Space, 4 Jan
[6] PWC (PricewaterhouseCoopers) (2022), Asia Pacific’s Time: Responding to the new reality, Nov
[7] KPM (2021), Rethinking supply chains in Asia Pacific: A study on supply chain realignment and competitiveness across high growth markets, Oct
[8] เมธี สุภาพงษ์ (2023), คำกล่าวเปิดงานThailand – Japan Joint Trade and Economic Committee ระหว่าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กับ Keidanren (Japan Business Federation) หัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” ณ โรงแรม Royal Orchid Sheraton, 16 มี.ค.
[9] U.S. News and World Report (2022), Best countries to start a business
[10] Michael George DeSombre (U.S. Ambassador to Thailand) (2020), Safe, Reliable, Secure and Cost-Effective Supply Chains Belong in Thailand, U.S. Embassy Bangkok, 23 May
[11] Kenya Akama, (2023), Thailand, Indonesia emerge as bigger links in EVsupply chain, Nikkei, 18 Apr

ผู้เขียน

Saovanee Chantapong photo ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ saovanec@bot.or.th
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน

ปัจจุบันทำงานศึกษาและวิจัย และให้ข้อเสนอแนะนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านอุปทานและตลาดแรงงาน และมีประสบการณ์ทั้งด้านบัญชีดุลการชำระเงินและนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย การเจรจา FTAs การปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดทำแบบจำลองและดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ เช่น EWS-VIEWs, NAFF, BSI, HPI และ Senior Loan Officer Survey เคยเป็นนักวิจัย (Wissenschaftliche Mitarbeiterin) Hannover university เป็น National consultant, ILO’s global research on skills shortages and labour migration in the field of ICT และเป็นกรรมการในสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ (ชุดที่ 19) กระทรวงแรงงาน สำเร็จการศึกษาปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ Manchester University (ทุนรัฐบาลอังกฤษ), Advanced Studies Program in International Economic Policy Research, the Kiel Institute for the World Economy (IfW) (ทุน ASP Alumni) เยอรมนี และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ Hannover University (ทุนมหาวิทยาลัย) เยอรมนี

Anotai Buddhari photoอโนทัย พุทธารี anotaii@bot.or.th
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน สายกำกับสถาบันการเงิน

เป็นผู้ตรวจสอบสถาบันการเงินที่ดูแลความเชื่อมโยงของภาคเศรษฐกิจจริงและเสถียรภาพระบบการเงิน และมีประสบการณ์จัดทำแบบจำลอง อาทิ BOTMM, NAFF, IO Table และสถิติเศรษฐกิจจริงและดุลการชำระเงิน รวมทั้งการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และให้ข้อเสนอแนะนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคและด้านอุปทาน

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง

 

Theme: ห่วงโซ่อุปทานโลก

Tags: ห่วงโซ่อุปทาน, การผลิต, ประสิทธิภาพการผลิต, TFP, การลงทุน, การนำเข้าสินค้าทุน, ยุคหลังโควิด-19, ภูมิรัฐศาสตร์, เทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, แจงสี่เบี้ย,คอลัมนิสต์, เสาวณี จันทะพงษ์, Saovanee Chantapong, อโนทัย พุทธารี, Anotai Buddhari

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย เป็นช่องทางสื่อสารมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นเศรษฐกิจ Hot issues รวมถึงให้ความรู้ทางเศรษฐกิจการเงิน และนโยบายและผลกระทบแก่สาธารณชน

Advisory Editors
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.สุรัช แทนบุญ -- ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Economics and Production Editor
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Media Queries
งานสื่อมวลชน -- ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย MassMediaCCD@bot.or.th