อุปกรณ์การแพทย์ไทย ทำอย่างไรจึงไม่เป็นรอง?

02 ธันวาคม 2566

เมื่อเดือนก่อน ผู้เขียนใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อดูแลคุณพ่อ ซึ่งตอนนี้หายจากโรคภัย ได้ออกมาจากโรงพยาบาล และกำลังฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแรงแล้ว ขณะที่อยู่โรงพยาบาล ผู้เขียนสังเกตเห็นการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่บางส่วนเป็นยี่ห้อของคนไทย จึงนึกย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงสมัยโควิด-19 ระบาดที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนา Industry Transformation Forum “อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีผู้ประกอบการ นักวิชาการ และภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน จึงขอนำสาระสำคัญที่ยังคงทันสมัยและน่าสนใจ มาฝากท่านผู้อ่านกันครับ

Thai regions

ในภาพรวม อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็น เตียงตรวจ (2) วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เข็มฉีดยา หลอดสวน และ (3) ชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค เช่น ชุดน้ำยาล้างไต ชุดตรวจการติดเชื้อ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2561 ประเทศที่ส่งออกอุปกรณ์การแพทย์สูงสุดในโลก คือ เยอรมนี ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่ประเทศที่นำเข้าสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ส่งออกในลำดับที่ 18 และนำเข้าเป็นลำดับที่ 33 ของโลก

 

ผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิตสัดส่วนใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง หลอดสวน หลอดฉีดยา รองลงมาคือ กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วย และกลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมทุนกับต่างชาติมาลงทุนในไทย อาทิ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับอักเสบ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการส่งเสริมของภาครัฐในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถเน้นตลาดในประเทศได้มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูง อาทิ การเจาะตลาดสินค้าพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย การเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ส่วนบุคคล (Health-Related Personal Devices) การคิดค้นอุปกรณ์เชิงเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive care)

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญอยู่หลายประการ ได้แก่ (1) อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตในประเทศยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายของบุคลากรทางการแพทย์ในไทย เนื่องจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในไทยยังคงนิยมสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีราคาสูงกว่า นอกจากนี้ อุปสงค์ต่อสินค้าของผู้ประกอบการไทยมักจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภาวะวิกฤตเท่านั้น เช่น เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา (2) อุตสาหกรรมมีการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามา โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ ตามการเปิดตลาดจากข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (3) อัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วน อะไหล่ และวัตถุดิบในการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตราร้อยละ 20–30 ทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศมีภาษีอยู่ในระดับต่ำหรือไม่มีการจัดเก็บภาษี ทำให้ผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าแบบสำเร็จรูปได้ยาก (4) ขาดความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอในการลงทุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ know-how และงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมีห้องปฏิบัติการนำร่อง (pilot plant) เพื่อสร้างมาตรฐานการส่งออกที่ดี

 

ดังนั้น ภาครัฐจึงควร (1) สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยในหน่วยงานและโรงพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและคุ้นเคยให้กับสินค้าแบรนด์ไทย เช่น กำหนดให้มีการนำอุปกรณ์ที่ผลิตโดยคนไทยไปใช้ในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาแพทย์คุ้นเคยอุปกรณ์เหล่านี้และมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการใช้งานสินค้าแบรนด์ไทยมากขึ้น และมี feedback เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไทยพัฒนาขึ้นได้ต่อเนื่อง (ภาครัฐมักตั้งงบประมาณไว้สูงสำหรับสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนให้มีสินค้าที่ผลิตในประเทศแทนจะช่วยประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก) (2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดประสิทธิผล กล่าวคือ การจับคู่ทำงานร่วมกันระหว่าง “นักวิจัย” และ “ผู้ประกอบการ” โดยนักวิจัยจะทำหน้าที่คิดค้นทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนผู้ประกอบการจะนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) นั้นไปผลิตออกสู่ตลาดจริง (3) สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงระบบการให้ทุนวิจัย และร่วมกันลงทุนในการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้เอกชนสามารถรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐได้ (4) เร่งปรับปรุงกฎระเบียบและภาษีที่เกี่ยวข้อง และ (5) การบ่มเพาะ startup รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย

 

โดยส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน และเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะหากเราเชื่อมั่นในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทย เราจะสามารถจัดสรรงบประมาณที่จะประหยัดได้ เพื่อนำไปลงทุนในด้านสาธารณสุขหรือด้านอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์อีกมากมายครับ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ 

ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2566