รู้ทันกลลวงหลอกลงทุน

16 ธันวาคม 2566

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวเพจปลอม หลอกลงทุน หรือข่าวประเภทแชร์ลูกโซ่ ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ประชาชน โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุน การจะรู้ทันกลหลอกลวงของนักต้มตุ๋น คุณต้องคิดให้เหมือนนักต้มตุ๋น หากวันนี้คุณเป็นนักต้มตุ๋นคุณจะใช้กลยุทธ์อะไร นี่เป็นคำถามชวนคิดที่อยากจะให้ผู้อ่านลองคิดดูครับ

Thai regions

หากคุณจะหลอกใครสักคนมาลงทุน สิ่งแรกที่จะทำให้เหยื่อสนใจในตัวคุณคืออะไร ใช่แล้วครับ เงินต้องดี กำไรต้องงาม ผลตอบแทนที่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเกิดความอยาก เกิดกิเลส ซึ่งจะไปบั่นทอนความคิดเชิงเหตุผล เพราะอารมณ์มักทำงานเร็วกว่าตรรกะเสมอ เราจึงมักเห็นนักต้มตุ๋นเสนอตัวเลขผลตอบแทนที่สูงมาก เช่น ลงทุนเพียง 5,000 บาท ได้ผลตอบแทนหลักพันภายในหนึ่งอาทิตย์ เท่านั้นคงยังไม่พอ สิ่งที่จะทำให้นักต้มตุ๋นอย่างคุณปิดจ๊อบได้คือความน่าเชื่อถือ เพราะคนที่มีสติจะระมัดระวังตัว ดังนั้น หากคุณสร้างความน่าเชื่อถือได้ ปลาก็จะติดเบ็ดทันที

 

คำถามคือ คุณจะสร้างความน่าเชื่อได้อย่างไร ต้องบอกว่ามีกลยุทธ์ร้อยแปดพันเก้าเลยทีเดียว และไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนออกมาเท่าไหร่ก็คงไม่ทันกลยุทธ์ใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ ตัวอย่างที่เรามักเห็นคือ การสร้างเพจปลอมโดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือในกรณีที่มีคนมาพูดชักชวนโดยตรง เขาก็จะอวดรูปภาพงานกาล่าดินเนอร์ที่จัดเพื่อตอบแทนนักลงทุนรุ่นก่อนอย่างหรูหรา หรือหลอกให้คุณดาวน์โหลดแอปที่เขาสร้างขึ้น ซึ่งมันจะสร้างตัวเลขปลอม ๆ ในแอปให้คุณเห็นว่าเงินคุณเพิ่มขึ้น หรือบางทีก็มาแบบง่าย ๆ ใกล้ตัวเราเลย คือ ญาติมิตรชวนมาลงทุน ซึ่งเป็นบุคคลที่เราไว้ใจ แต่เขาเหล่านั้นก็ถูกหลอกมาอีกที

 

คนที่เคยถูกหลอกจะรู้ว่าไม้เด็ดของนักต้มตุ๋นในการสร้างความน่าเชื่อถือคือ “การหลอกให้ตายใจ” โดยหลอกให้คุณลองลงทุนน้อย ๆ ก่อน เพื่อพิสูจน์ว่ามันได้เงินจริง ๆ พอได้เงินคืนครั้งแรก คุณก็จะเริ่มเชื่อ และขยายวงเงินลงทุน ซึ่งคุณจะถูกเร่งเร้าให้เสียดายโอกาสถ้าไม่รีบลงทุน คนอื่นเขาได้ไปหมดแล้ว พอถึงจุด ๆ หนึ่งคุณจะถูกเชิดเงินและถูกตัดขาดการติดต่อโดยไม่ได้เงินคืนสักบาท หรือคุณอาจจะเจออีกกลยุทธ์หนึ่งคือ “สร้างความกลัวและเพิ่มความหวัง” เช่น คุณจะถอนเงินออกได้ก็ต่อเมื่อคุณเติมเงินเพิ่ม แล้วก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา ว่าต้องเติมเงินเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง เอกสารทุกอย่างเตรียมไว้พร้อมแล้ว ใช่แล้วครับ ถึงจุดนั้นคุณจะถูกความกลัวครอบงำ กลัวว่าจะสูญเสียเงินก้อนโต คุณจึงหาเงินมาเติม ซึ่งบางคนก็ไปกู้ยืมเงินจากคนอื่นกลายเป็นหนี้สินเข้าไปอีก ผู้อ่านที่อ่านถึงจุดนี้ เห็นอะไรแปลก ๆ ไหมครับ “จะถอนเงินได้คุณต้องเติมเงินก่อน” ประโยคนี้แปลกไหม ถ้ามันมีเงินที่คุณลงทุนอยู่จริงมันต้องถอนได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ต้องมาเติมเงิน ท้ายที่สุดคุณก็เสียเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด และสร้างความเสียหายให้กับผู้คนมากมายที่ไม่รู้ทัน

 

ผมขอจบส่งท้ายด้วยคำถามชวนคิดดังนี้ครับ  ถ้าคุณขุดเจอทอง คุณจะบอกต่อคนอื่นไหมว่าตรงนี้มีทอง หรือคุณจะเก็บเงียบ คุณคงไม่แชร์ของดีให้คนอื่นใช่ไหม ดังนั้น การที่มีคนมาชวนให้ลงทุนโดยได้ผลตอบแทนสูง ๆ มันไม่มีจริงหรอกครับ เพราะของดีไม่มีใครเขาบอกต่อ มีแต่ของเก๊เท่านั้นที่จะทำให้คุณโดนหลอก

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
สรา ชื่นโชคสันต์

ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ 

ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2566