การท่องเที่ยวไทยยังแข่งขันได้จริงหรือ?

26 ธันวาคม 2566

ภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด สะท้อนจากรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 18% ของ GDP และยังไม่นับ GDP โดยอ้อมจากการบริโภคของแรงงานเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน ทุกภาคส่วนจึงหวังว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี หลังไทยเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศตามปกติมาแล้วเกือบปีครึ่ง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดยังกลับมาได้เพียงแค่ 78% จึงเกิดคำถามว่า แม้ในช่วงก่อนโควิด ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ที่ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนและฮ่องกง และเป็นที่ 1 ของอาเซียน แต่หลังโควิด ไทยยังแข่งขันในด้านการท่องเที่ยวได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่? ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศต่างก็เร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว โดยหวังให้ภาคท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย

 

บทความนี้จะวิเคราะห์โจทย์ดังกล่าวด้วยข้อมูลดัชนี Travel & Tourism Development (TTDI) ที่จัดทำโดย World Economic Forum ตั้งแต่ปี 2007 โดย TTDI เป็นมาตรวัดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยว ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2021 ครอบคลุม 117 ประเทศ และเครื่องชี้ย่อย 112 ตัว ในหมวดหมู่ต่าง ๆ ของภาคท่องเที่ยว ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายและปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว สภาพแวดล้อม  ความยั่งยืน และแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ เช่น วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ  

Thai regions

สำหรับเวียดนามและอินโดนีเซีย พัฒนาการด้านขีดความสามารถที่โดดเด่นคือนโยบายและปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยส่งเสริมหรือดึงดูดด้านราคาจาก ภาษีสนามบิน ราคาโรงแรม ค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน พบว่าดัชนีการแข่งขันด้านราคาของอินโดนีเซียและเวียดนามปรับดีขึ้นจากก่อนโควิดราว 10% ทำให้ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก เช่นเดียวกันกับมาเลเซีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 39 ของโลก และเป็นอันดับรองสุดท้ายของกลุ่มอาเซียนในการแข่งขันด้านราคา โดยการท่องเที่ยวในไทยถูกกว่าสิงคโปร์แค่เพียงประเทศเดียว

 

นอกจากนี้ ความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามและอินโดนีเซียยังพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากดัชนีด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางน้ำที่ขยายตัวสูงมาก โดยเวียดนามได้พัฒนาการขนส่งทางรางที่มีอยู่เดิม 7 สาย รวมถึงวางแผนขยายอีก 9 สาย ภายในปี 2030 รวมถึงวางแผนขยายสนามบินเพิ่มขึ้นจาก 22 แห่ง เป็น 29 แห่ง ภายในปี 2050 โดยได้เริ่มก่อสร้างสนามบินนานาชาติ Long Thanh และขยายสนามบิน Tan Son Nhat เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่พัฒนาการขนส่งทางรางโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงหรือกึ่งความเร็วสูงร่วมกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่หลายจังหวัดเข้าด้วยกัน รวมถึงวางแผนสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 21 แห่ง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ สำหรับไทย แม้ว่าอันดับโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมจะปรับดีขึ้นจากที่ 31 เป็นที่ 28 ของโลก โดยดัชนีด้านโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศอยู่อันดับ 13 ของโลก แต่ค่าดัชนีกลับปรับลดลงถึง 8.8% เทียบกับก่อนโควิด สะท้อนว่านอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานเดิมเพื่อรักษาขีดความสามารถที่มีอยู่ก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

ความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีก 2 ประเด็นที่ไทยยังพัฒนาได้อีกมาก เนื่องจากค่าดัชนีทั้ง 2 ด้านนี้ของไทยอยู่ในอันดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ดัชนีด้านความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากที่ 88 เป็นที่ 92 จาก 117 ประเทศ โดยอันดับแย่ที่สุดในอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์ สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ Dragon Trail ซึ่งพบว่าคนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2022 เป็น 51% ในปี 2023 และมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยฟื้นตัวได้ช้า ส่วนอันดับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของไทยล่าสุดอยู่ที่ 98 สะท้อนว่าภาคท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเสื่อมโทรม และเป็นต้นทุนที่ไทยยังไม่ได้จ่ายเพื่อรักษาให้ภาคท่องเที่ยวไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

 

โดยสรุป ขีดความสามารถภาคท่องเที่ยวของไทยปรับดีขึ้นบ้าง แต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะช่องว่างความสามารถในการแข่งขันที่แคบลงในด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของไทยกับคู่แข่ง กอปรกับได้เปรียบในด้านราคา ขณะที่ไทยยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืน สุดท้าย หากภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โจทย์สำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน ได้แก่ (1) เร่งแก้ปัญหาความปลอดภัยในการท่องเที่ยวไทย (2) บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่างดี รวมถึงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและครบครัน (3) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลัก ESG เพื่อให้ธรรมชาติที่งดงามยังคงอยู่ และสร้างขีดความสามารถให้ภาคท่องเที่ยวของไทยยังแข่งขันได้ในอนาคต

หากพิจารณามาตรการของต่างประเทศแล้ว มีสิ่งที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้หรือต่อยอดจากมาตรการเดิมได้อีกหลายด้าน เช่น (1) ควรมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วง low season (2) มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มกำลังซื้อสูง ควรมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับ world class ที่แข่งได้กับสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีแรงจูงใจจากการนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีเวลาและมีกำลังซื้อ อาจส่งเสริมการเที่ยวช่วงวันทำงานที่มีคนเที่ยวน้อย หรือการเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ (3) จูงใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนา โดยนำมาลดหย่อนภาษีได้ (4) สร้างอัตลักษณ์และเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น

 

แม้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศของไทยจะยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ [4] แต่เชื่อว่าการมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมเติบโตและกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันหากมีแผนระยะยาวและพัฒนาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคล้ายจีน ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนค่ะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
วรัญญา มหาวนากูล

จิรัฐ เจนพึ่งพร

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2566