จะรออีกนานแค่ไหนกว่าจะ “ปรับตัว” ต่อ Climate Change?

15 กรกฎาคม 2566

ในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงตื่นขึ้นมากลางดึกจากเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และฝนที่เทลงมาอย่างอึกทึก จนแทบจะทะลุหลังคาบ้าน ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ฝนที่ตกลงมามีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ไม่ต่างจากอากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในฤดูร้อน ซึ่งทำให้การทำกิจกรรมกลางแจ้งลำบากขึ้นมาก สอดคล้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์[1] ที่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกทวีความรุนแรงขึ้นจริง และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

 

ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนหรืออุณหภูมิสุดขั้ว ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่สะสมมาในอดีต ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้อง “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดสร้าง “เหตุ” ที่จะทำให้วิกฤต “รุนแรงขึ้นอีก” ในอนาคต แต่จำเป็นต้อง “ปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในวันนี้จากเหตุในอดีตที่มนุษย์เราทำไว้

 

“การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในแวดวงวิชาการเรียกว่า “Climate Change Adaptation” โดย ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และคุณสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในเชิงลึก[2] ผู้เขียนจึงขอหยิบยกบางประเด็นมาชวนท่านผู้อ่านคิดตามกันวันนี้ครับ

 

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลายและใช้ได้ในหลายภาคส่วน ยกตัวอย่าง การจัดทำฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิอากาศและสุขภาพ เพื่อใช้แจ้งเตือนภัยโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น heat stroke การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศมาใช้วางแผนเพาะปลูกในภาคเกษตรเพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า การปรับรูปแบบการจัดการ เช่น ปรับเวลาเปิด/ปิดแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย การเลื่อนปฏิทินเพาะปลูก

 

แต่การปรับตัวเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น โดยแต่ละรูปแบบก็ใช้เงินทุนไม่เท่ากันและต้องอาศัยเงินทุนจากหลายแหล่ง การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) จึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การให้สินเชื่อ การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด มากกว่าการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Finance) ระดับการสนับสนุนดังกล่าวนับว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับผลกระทบทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

สำหรับไทย หากพิจารณาเฉพาะการดำเนินการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า จำเป็นต้องใช้เงินทุนประมาณ 0.4 - 0.7% ของ GDP ต่อปี หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นไปที่โครงการบางประเภทเท่านั้น เช่น โครงการด้านการจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

 

ดังนั้น สมควรแล้วหรือไม่ที่เวลานี้ทุกภาคส่วนจะต้อง “ปรับตัว” อย่างจริงจัง รวมทั้งภาคการเงินที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างโดยสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย เราทุกคนย่อมได้รับผลกระทบและความเสียหายใหญ่หลวงอย่างถ้วนหน้ากันแน่นอนครับ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

[1] ตัวอย่างของงานวิจัย เช่น IPCC. (2021). Climate Change 2021: The Physical Science Basis (V. Masson-Delmotte, P. Zhai, A. Pirani, S. L. Connors, C. Péan, S. Berger, N. Caud, Y. Chen, L. Goldfarb, M. I. Gomis, M. Huang, K. Leitzell, E. Lonnoy, J. B. R. Matthews, T. K. Maycock, T. Waterfield, O. Yelekçi, R. Yu, & B. Zhou, Eds.). Cambridge University Press.

[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Thampanishvong, K., & Pongpech, S. (2023). การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (aBRIDGEd No. 12/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research. https://www.pier.or.th/abridged/2023/12/

ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2566