3 สิ่งที่เศรษฐกิจไทยควรมี

11 พฤศจิกายน 2566

ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญทั้งความเสี่ยงในรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน หรือการรักษาดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อดูแลเงินเฟ้อในหลายประเทศแล้ว ปัจจุบันยังเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ อย่างปัญหาในตะวันออกกลาง ที่คาดเดาผลที่จะตามมาได้ยากกว่าความเสี่ยงแบบเดิม ด้วยสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่า หัวใจสำคัญ คือ การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมี resilience หรือเรียกว่าเศรษฐกิจมีความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกเร็ว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขออธิบายประเด็นดังกล่าวให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

Thai regions

แล้ว resilience คืออะไร? ไม่ได้หมายถึงแค่เสถียรภาพ ที่มุ่งให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมกว้างกว่านั้น โดยมี 3 องค์ประกอบ คือ มีเสถียรภาพ มีภูมิคุ้มกัน และเติบโตได้ในกระแสโลกใหม่ ด้านแรก มีเสถียรภาพ สำหรับไทยคือ เงินเฟ้อไม่สูงเกินไป อยู่ในกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจโตในระดับที่เหมาะสมกับศักยภาพ ไม่โตร้อนแรงจนเกินไป และไม่เกิดความเปราะบางในระบบการเงิน ซึ่งปัจจุบัน เสถียรภาพโดยรวมของไทยเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านต่างประเทศทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุล ทุนสำรองต่างประเทศที่สูง และหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ หรือด้านสถาบันการเงินที่มีเงินกองทุนและสภาพคล่องแข็งแกร่ง แต่จุดที่ต้องระมัดระวัง คือ หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง โดยรวมแม้โอกาสจะเกิดวิกฤตของไทยยังต่ำ แต่ยังชะล่าใจไม่ได้

 

ถัดมา มีภูมิคุ้มกันที่จะเป็นกันชนช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดช็อก โดยเฉพาะในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง ไม่รู้แน่ชัดว่าช็อกจะมาในรูปแบบใดและเมื่อใด โดยกันชนทางการเงินเป็นเรื่องพื้นฐาน คือ งบดุลของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งครัวเรือน ธุรกิจ สถาบันการเงิน และภาครัฐ เช่น ไม่ควรมีสัดส่วนหนี้ที่สูงเกินไป รวมถึงต้องระมัดระวังการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่ม นอกจากกันชนแล้ว ยังต้องมีทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง เปรียบเสมือนกับการมีถนนหลักถนนรอง หากถนนเส้นหลักเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังมีถนนรองไว้รองรับ เช่นเดียวกัน ระบบการชำระเงินหรือการค้าระหว่างประเทศก็ควรมีทางเลือกอื่นๆ รองรับ ช่วยกระจายความเสี่ยง เช่น การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค้าสินค้าได้เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินสกุลหลักอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือการมีระบบการชำระเงินอื่นสำรองไว้ใช้หากระบบหลักเกิดปัญหา

 

สุดท้าย เติบโตได้ในกระแสโลกใหม่ เพราะการเติบโตแบบเดิม ๆ หรือพึ่งพาโลกเก่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่ทั่วถึง และไม่ยั่งยืน เห็นได้จาก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้รายได้ที่วัดจากจีดีพีไทยจะโตขึ้น แต่การกระจายตัวของรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนและเติบโตในรูปแบบนี้ต่อไป โอกาสที่เราจะกระจายประโยชน์ไปยังกลุ่มต่าง ๆ และโตแบบทั่วถึงขึ้นคงลำบาก นอกจากนี้ กระแสอย่างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมหรือกระแสดิจิทัลกำลังมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่ปรับตัวจะโดนกระทบจากกระแสของโลก เช่น กว่า 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งรายได้ขึ้นกับผลผลิตที่จะถูกกระทบโดยตรงจากสภาพอากาศ รวมถึง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมไทยก็เป็นอุตสาหกรรมโลกเก่า อย่างปิโตรเคมี ยานยนต์ เป็นต้น ดังนั้น ไทยเองก็ต้องสร้างทางเลือกและโอกาสเติบโตใหม่ๆ ทั้งการปรับตัวรองรับกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ ๆ มาต่อยอดธุรกิจ

 

หากเศรษฐกิจไทยมีองค์ประกอบทั้ง 3 สิ่ง คือ มีเสถียรภาพ มีภูมิคุ้มกัน และเติบโตในกระแสโลกใหม่ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญมั่งคั่งที่ทั่วถึงขึ้น และเป็นเศรษฐกิจที่ทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกได้เร็ว หรือมี resilience กว่าเดิมค่ะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ

ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566