สายเที่ยว รู้ยัง...ช้อป 6 ประเทศได้ด้วย QR Code

18 พฤศจิกายน 2566

เข้าสู่ปลายปีแล้ว เชื่อว่าบางท่านคงกำลังวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศกันอยู่ และสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมกัน คือ การแลกเงินเพื่อไปใช้จ่าย ที่ต้องคิดว่าควรจะแลกเงินไปเท่าไรดี ถึงจะพอกับค่ากิน ค่าช้อปปิ้ง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และบางท่านอาจเกิดความกังวลเวลาต้องพกเงินสดไปเป็นจำนวนมาก จึงอาจแก้ปัญหานี้ด้วยการเลือกใช้บัตรเครดิต ซึ่งตอนจะรูดบัตรก็อาจกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมอีก แต่ทราบกันไหมคะว่า ปัจจุบันนี้มี Cross-Border QR Payment ที่เป็นตัวช่วยหรือทางเลือกในการไปเที่ยว 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่เมืองไทยเลยค่ะ 

Thai regions

Cross-Border QR Payment ดีอย่างไร และใช้อย่างไร? ข้อแรก สะดวกสบายรวดเร็ว ทำให้เราไม่ต้องแลกและพกเงินสดไปต่างประเทศคราวละมากๆ แค่เปิด mobile banking application สแกน QR Code แล้วใส่จำนวนเงินต่างประเทศที่ต้องจ่าย เราก็จะเห็นจำนวนเงินบาทขึ้นมาบนหน้าจออัตโนมัติ ให้ตรวจสอบก่อนกดยืนยันรายการ เงินก็จะเข้าบัญชีผู้ขายทันที ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเป็นคนสแกน QR Code ของร้านค้า ยกเว้นญี่ปุ่นที่เราต้องทำกลับกัน คือ ต้องสร้าง QR code แล้วยื่นหน้าจอให้ร้านค้าที่ญี่ปุ่นเป็นผู้สแกนจากเรา ข้อที่สอง ปลอดภัย สามารถตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมได้ทันทีก่อนกดยืนยันรายการ ได้รับ e-Slip ทำให้มั่นใจว่าเงินถึงผู้รับ ลดความเสี่ยงเงินสดหายและธนบัตรปลอม ข้อที่สาม อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าการชําระเงินด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต และเห็นอัตราแลกเปลี่ยนก่อนยืนยันการชําระเงิน ซึ่งเพื่อนผู้เขียนเพิ่งไปสแกน QR Code ที่สิงคโปร์ ก็บอกว่าอัตราแลกเปลี่ยนพอๆ กับร้านรับแลกเงินในไทยเลย และสุดท้าย คือ ฟรีค่าธรรมเนียม

 

ถ้าอยากใช้ ควรทำอย่างไรและควรรู้อะไรบ้าง? เริ่มจากการหาข้อมูลหรือสอบถามจากธนาคารที่เรามี mobile banking application ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือใช้ในประเทศใดได้บ้าง เพราะยังไม่สามารถใช้ได้ทุกธนาคาร เช่น ถ้าจะไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย สามารถใช้ได้ 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา และซีไอเอ็มบี ไทย แต่ถ้าไปสิงคโปร์ ใช้ได้ 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และกรุงศรีอยุธยา เรื่องที่สองคือวงเงินใช้ได้เท่าไหร่ เพราะวงเงินแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน แต่เพดานสูงสุดคือไม่เกิน 1 แสนบาทต่อครั้ง ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อวัน

 

นอกจากนี้ อาจมีข้อสงสัยว่า ยังต้องแลกเงินไปไหม อย่างในไทย บางวันเดินออกไปทานข้าวพกแค่มือถือได้ ขอตอบว่ายังต้องแลกเงินไปอยู่ค่ะ เพราะการใช้ Cross-Border QR Payment ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่ใช่ร้านค้าส่วนใหญ่ของทั้ง 6 ประเทศที่จะสามารถรับเงินด้วย QR Code ได้ ประเทศที่ร้านค้าส่วนใหญ่ในแหล่งท่องเที่ยวและช้อปปิ้งรับ QR Code ได้ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ผู้เขียนจึงเรียก Cross-Border QR Payment ว่าเป็นตัวช่วยหรือทางเลือกในการใช้จ่ายในต่างประเทศให้สะดวกสบายอุ่นใจยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับจะใช้แทนเงินสดได้

 

ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ธนาคารที่ให้บริการจะมีมากขึ้น และจะขยายความเชื่อมโยงไปที่อื่นเพิ่มขึ้น เช่น ฮ่องกงจะใช้ได้ 4 ธันวาคมนี้ และอินเดียจะใช้ได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งถ้าทำครบ 8 ที่ จะครอบคลุมกว่า 40% ของคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2562 เลย

 

สุดท้ายขอชวนผู้อ่านคิดเล่นๆ ไม่รู้จะมีท่านใดคิดเหมือนผู้เขียนไหมคะว่า สายเที่ยวสายช้อปปิ้งจริงจังจะอยากให้ขยายเพดานวงเงินเพิ่มขึ้นไหม เพราะอาจมีบางใบเสร็จที่เกิน 1 แสนบาท เช่น กรณีไปช้อปปิ้งที่ฮ่องกง โดยจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าค่าใช้จ่ายของคนไทยต่อคนต่อวันในปี 2562 ที่ฮ่องกงสูงกว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์อีกค่ะ 

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
รุจา อดิศรกาญจน์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ

ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566