Global Minimum Tax ความท้าทายที่ไทยจะต้องเผชิญ

27 พฤศจิกายน 2566

การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จึงไม่แปลกใจที่หลาย ๆ ประเทศพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เกิดการแข่งขันกันลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน จนอัตราภาษีที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงเรื่อย ๆ ประกอบกับปัจจุบันที่รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในประเทศที่ให้บริการ ทำให้ประเทศดังกล่าวไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ด้วยเหตุนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD[1]) จึงเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs[2]) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลงรวมถึงประเทศไทย โดยในปี 2567 จะเริ่มใช้จริงในบางประเทศ ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านร่วมคิดไปด้วยกันถึงความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญจากแนวทางในการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ที่มีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย

Thai regions

OECD เสนอสองแนวทางในการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ โดยแนวทางแรก (Pillar 1) สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้ของ MNEs ไม่ว่าบริษัทจะตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้น ๆ หรือไม่ก็ตาม โดย MNEs ที่เข้าเกณฑ์ คือ (1) มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 20,000 ล้านยูโรต่อปี (2) มีผลกำไรมากกว่า 10% ของรายได้ในประเทศนั้น และ (3) มีรายได้ในประเทศนั้นอย่างน้อย 1 ล้านยูโรต่อปี หรือราว 38 ล้านบาทต่อปี บริษัทจะต้องปันผลกำไรให้กับประเทศนั้นด้วย โดยไทยจะได้รับประโยชน์จาก Pillar 1 เนื่องจากไทยจะสามารถจัดเก็บภาษีกับ MNEs ที่ได้รายได้จำนวนมากจากผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งเดิมทีไม่สามารถทำได้ เช่น Netflix ผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีรายได้จากคนไทยกว่า 630 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง MNEs ของไทยยังมีขนาดเล็ก จึงยังไม่เข้าเกณฑ์นี้

 

แนวทางที่สอง (Pillar 2) มีจุดประสงค์เพื่อหยุดการแข่งขันทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของ MNEs ที่อาจย้ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีต่ำ โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) ที่ 15% สำหรับ MNEs ที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี GMT ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Tax Haven[1] เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขณะที่ไทยแม้ว่าจะมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% แต่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI[2]) ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ต่ำกว่า 15% บริษัทดังกล่าวจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (top-up tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15% GMT จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้องการเป็นฐานการผลิตเพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในประเทศ

 

แนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบจาก top-up tax ที่หลายประเทศให้ความสนใจ คือ การให้เครดิตภาษี (Qualified Refundable Tax Credits: QRTC) ซึ่งจะเป็นการคืนเงินภาษีในรูปแบบของเงินสดหรือสิ่งที่เทียบเท่า หากบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลของประเทศผู้จัดเก็บภาษีกำหนด เช่น การนำเงินที่ได้คืนไปใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการ ทั้งนี้ QRTC เป็นแนวทางที่มีความยืดหยุ่นเนื่องจากสามารถแปลงเป็นเครดิตที่ใช้เพื่อชดเชยภาษีรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น ภาษีทรัพย์สิน ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสำรองเงินไว้เพื่อคืนให้แก่บริษัท สำหรับประเทศไทย BOI ได้เสนอแนวทางให้นำ top-up tax ที่บริษัทจ่าย สบทบเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป

 

แม้การแข่งขันด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกตามข้อกำหนด GMT อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าไทยมีจุดขายอื่นที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติได้ ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุม และสิทธิประโยชน์อื่นจาก BOI เช่น การให้บริการศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS[3]) ที่อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะทักษะแรงงาน การเน้นสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น และการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ไทยสามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางความท้าทายในอนาคตที่ภาษีไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดหลักอีกต่อไป

 

[1] กลุ่มประเทศ Tax Haven หมายถึง ประเทศที่มีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่าทั่วไปมาก หรืออาจจะเท่ากับ 0%

[2] Board of Investment

[3] One Start One Stop Investment Center 

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ภาณิศา ศานติศรัณย์ และ ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์

ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ฉบับวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2566