ภาคการเงิน...ใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

06 สิงหาคม 2567

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ “ภาวะโลกรวน” หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถูกพบเห็นบ่อยครั้งในระยะหลัง และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ

 

เดือนที่แล้ว (ก.ค.67) ทำลายสถิติร้อนที่สุดในโลก โดยหลายพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส และสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งจัดการภาวะโลกร้อน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและแรงงาน รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO สะท้อนว่า แรงงานราว 70% มีความเสี่ยงสูงทางสุขภาพจากความร้อนสูง อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานจะลดลง 50% ในวันที่อุณหภูมิเกิน 34 องศาเซลเซียส

ทั่วโลกได้เร่งปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สภาวะที่โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสมดุลกับก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ หรือสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) โดยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างกำหนดเป้าหมาย Net zero ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนไทยตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ. 2065

 

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณรณดล นุ่มนนท์ ได้กล่าวในงานสัมมนาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 67 สะท้อนความท้าทายของธุรกิจไทย ที่ว่า (1) แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน top 20 ของโลก แต่เราติดอันดับ top 10 ที่รับผลกระทบจาก climate change รุนแรงที่สุด โดยเจออากาศร้อนยาวนานขึ้น และจะเผชิญภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งขึ้น (2) ธุรกิจไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศที่เข้มงวดกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ และSMEs ใน supply chain โดยในบางอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ supply chain สูงกว่าตัวบริษัทเองกว่า 11 เท่า และ (3) อุตสาหกรรมไทยกว่า 30% ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาลและเป็นเทคโนโลยีโลกเก่า พึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ซึ่งหากปรับตัวไม่ทันก็เสี่ยงที่จะเสียโอกาสทางธุรกิจ

 

สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนกลุ่มสีน้ำตาลให้เริ่มปรับตัว โดยเปลี่ยนไป “less brown” มากขึ้นเรื่อย ๆ จน “green” ได้ในวันข้างหน้า ที่เทคโนโลยีมีความพร้อมในต้นทุนที่เหมาะสม

 

รอง รณดลฯ ยังได้เล่าถึงตัวอย่างของหลายธุรกิจที่เริ่มปรับตัวแล้วและเห็นผลสำเร็จ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ต้นทุนค่าไฟสูงถึง 6-8% ของรายได้ โดยจากการสำรวจธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัว เช่น หันมาใช้หลอดไฟ LED ติด solar rooftop หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ สามารถลดต้นทุนค่าไฟเกือบ 30% และยังช่วยเพิ่มจุดขายให้แก่โรงแรมอีกด้วย

 

ภาคการเงินมีบทบาทในการสนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์ โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อสีเขียว (green loan) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเกือบ 2 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม ส่วนภาคธุรกิจไทยมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ประมาณ 882 พันล้านบาท หรือ 5% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับความจำเป็น และยังเน้นสนับสนุนกลุ่มสีเขียว

แบงก์ชาติจึงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (financing product for transition to environmental sustainability) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่จะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านจาก “red หรือ brown” ให้เป็น “less brown หรือ greener” ควบคู่กับการให้ความรู้ที่จำเป็น เช่น การประเมิน carbon footprint โดยคาดว่าธนาคารที่
เข้าร่วมโครงการ จะประกาศรายละเอียดได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

 

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติยังได้วางรากฐานสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยปีที่แล้ว แบงก์ชาติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเงิน และ ภาคเอกชน จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ Thailand Taxonomy เริ่มจากภาคพลังงานและขนส่งแล้ว และอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ภาคการเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชนในช่วงปลายปีนี้

 

ประโยชน์ของ Thailand Taxonomy มี ดังนี้

1. ภาคการเงิน สามารถสนับสนุนเงินทุนได้ตรงจุด เพราะมีการกำหนดนิยามความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจตรงกัน ทำให้ประเมินสถานะลูกค้า สถานะพอร์ตของธนาคารเอง เพื่อช่วยวางกลยุทธ์การให้สินเชื่อ

2. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) เพราะมีการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเหลือง (amber) สะท้อนการให้ความสำคัญกับบริบทของไทยที่ยังมีกลุ่มสีน้ำตาลอยู่มาก ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถปรับตัวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

3. ลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริง หรือ greenwashing รวมถึงการมี taxonomy ที่ได้มาตรฐานสากล ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมในไทยมากขึ้น

 

ท้ายที่สุด รอง รณดลฯ ยังกล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จ “3 C Solutions” ได้แก่

C1: Clear direction คือ มีทิศทางที่ชัดเจนในระดับประเทศและระดับองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันด้านสิ่งแวดล้อม โดยไทยกำลังจะมี พรบ. Climate Change ที่คาดว่าจะบังคับใช้ปีนี้

C2: Cooperation คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ต้องร่วมมือและประสานงานกัน

C3: Customization คือ การคำนึงถึงบริบทและความพร้อมที่ต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับการกระตุ้นความตระหนักรู้ และให้ความรู้ เช่น การประเมิน carbon footprint รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่สามารถช่วยเหลือ SMEs ใน supply chain ในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน

 

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติที่สนับสนุนภาคการเงินในการร่วมสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมกันค่ะ  

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ  
ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม 2567