ชวนส่องโครงการสร้างความยั่งยืน … Financing the Transition
20 สิงหาคม 2567
ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าสู่กันฟังถึง ความท้าทายของธุรกิจไทยที่ต้องเผชิญภาวะโลกรวน และแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศที่เข้มงวดกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งหากอุตสาหกรรมไทย ที่ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาลและเป็นเทคโนโลยีโลกเก่า ปรับตัวไม่ทัน ก็เสี่ยงที่จะเสียโอกาสทางธุรกิจ
ในวันนี้ ผู้เขียนขอส่งต่อเรื่องราวดีๆ จากงาน “Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ” ที่แบงก์ชาติจัดขึ้น เมื่อ 7 ส.ค. 67 เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทไทย (โครงการ Financing the Transition) โดยมีธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) 8 แห่งเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย เกียรตินาคินภัทร ทหารไทยธนชาต ไทยพาณิชย์ และยูโอบี
ที่จริงแล้ว แบงก์ชาติได้วางรากฐานสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องนะคะ โดยรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน คุณรณดล นุ่มนนท์ กล่าวถึง เส้นทางการขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนของ แบงก์ชาติ ร่วมกับ ธพ. ซึ่งเริ่มจาก
(1) การสร้างความตระหนักถึงบทบาทของภาคธนาคารในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)
(2) การกำหนดทิศทางภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารความคาดหวังให้ ธพ. ประเมินโอกาสและความเสี่ยงจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนลูกค้าให้ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และ
(3) การวางรากฐานสำหรับระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกแนวนโยบายของ ธปท. เพื่อให้ ธพ. ผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการ และจัดทำ Thailand Taxonomy
Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อให้ภาคการเงินสามารถสนับสนุนเงินทุนได้ตรงจุด โดยกำหนดนิยามความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้าใจตรงกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของกิจกรรมเปลี่ยนผ่าน (transition) และลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริง หรือ greenwashing รวมถึงการมี taxonomy ที่ได้มาตรฐานสากล ก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเริ่มจากภาคพลังงานและขนส่งแล้ว และอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติม คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้กล่าวเปิดใจไว้ว่า การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของแบงก์ชาติ และ ธพ. ที่จะให้ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
1.ตอบโจทย์บริบทประเทศไทย เพราะภาคเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลสูง (brown) และมี SMEs จำนวนมากที่ยังไม่พร้อมเป็น green ได้ทันที การเน้นสินเชื่อ green เพียงอย่างเดียว จะทำให้ธุรกิจ SMEs เข้าไม่ถึงและมีปัญหาได้ ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัว จากธุรกิจที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (จาก brown สู่ less brown) หรือ Financing the Transition จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย
2. เน้นผลิตภัณฑ์จริง เป็นรูปธรรม โดยให้ ธพ. เสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้จริง
3. ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ ธพ. เพื่อมี Product program ที่หลากหลายตามบริบทลูกค้า โดยให้ ธพ. ที่เข้าร่วมโครงการ ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของกลุ่มลูกค้าได้อย่างยืดหยุ่น ครบวงจรและตรงจุด
ดังนั้น หลักการสำคัญในการปรับตัวจาก brown สู่ less brown ที่ผู้ว่าการเน้นย้ำ คือ การคำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็ว ที่เหมาะกับบริบทของประเทศ ซึ่งต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ (small steps) ที่จับต้องและปฏิบัติได้ (practical) และสามารถขยายผลในวงกว้าง (scalable) ซึ่งแบงก์ชาติ และ ธพ. ที่เข้าร่วมโครงการได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การปรับตัวของธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง
ภายในงานดังกล่าว ผู้บริหารระดับสูงของ ธพ. ทั้ง 8 แห่ง ยังได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารแต่ละแห่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ และมีกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาในการปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรม โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและข่าวสารของโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. (https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/sustainable-finance/green.html) และเว็บไซต์ของแต่ละ ธพ. ที่เข้าร่วมโครงการ
ทีมงานแบงก์ชาติที่ดูแลงานด้านนี้ นำโดย คุณวิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส และคุณวิภาวี ชมะนันทน์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ชี้ให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ในโครงการนี้ ต่างจากที่ผ่านมา คือ ธพ. ทำจริง เห็นผลจริง และ ขยายผลได้ โดยโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มและแบงก์ชาติจะไม่หยุดแค่นี้ โดยทุกภาคส่วนมีบทบาทที่จะช่วยผลักดันไปสู่จุดหมายด้วยกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจของแบงก์ชาติที่จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อจะช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และช่วยจุดประกายให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในวงกว้าง ในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนต่อไป
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **