เจาะลึกการส่งออกบริการของไทย: ปัจจุบันและความท้าทายในอนาคต

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 10 ธันวาคม 2567

แม้การส่งออกสินค้ายังเป็นหัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยความท้าทายทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออก และแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น อาจทำให้แรงส่งจากภาคการส่งออกสินค้าชะลอลง ขณะที่การส่งออกบริการของไทยกลับขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการส่งออกบริการดั้งเดิม[1] (Traditional service) อย่างเช่นภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนโควิด และการส่งออกบริการสมัยใหม่[2] (Modern service) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและสูงกว่าก่อนโควิด บทความนี้จึงชวนผู้อ่านมาเจาะประเด็นที่น่าสนใจของการส่งออกภาคบริการของไทยว่าจะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไรในอนาคต

 

ImExport

การส่งออกบริการมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกและอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะบริการสมัยใหม่

แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกบริการต่อ GDP โลกจะยังไม่สูงนักโดยอยู่ที่ 8% เทียบกับการส่งออกสินค้าต่อ GDP โลกที่อยู่ที่ 24% แต่เป็นที่น่าจับตา เพราะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยเฉพาะการส่งออกบริการสมัยใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (digitalization) ตามที่ศาสตราจารย์ Richard Baldwin ได้กล่าวไว้ว่าการส่งออกสินค้าเริ่มชะลอตัวในขณะที่การส่งออกบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ICT เพิ่มสูงขึ้น[3]

 

สำหรับภูมิภาคอาเซียน[4] การส่งออกบริการต่อ GDP ก็เติบโตสอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2557 เป็น 14% ในปี 2562 และมีข้อสังเกต คือ (1) การส่งออกบริการในอาเซียนเติบโตจากการส่งออกบริการสมัยใหม่เช่นเดียวกับโลก โดยเฉพาะบริการ ICT และบริการธุรกิจ โดยบริการสมัยใหม่มีสัดส่วน 60% ของการส่งออกบริการทั้งหมด สูงขึ้นจาก 45% ในปี 2557 (2) สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ เป็นเพียง 2 ประเทศที่การส่งออกบริการสมัยใหม่เติบโตชัดเจน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังพึ่งพาการส่งออกบริการดั้งเดิมอย่างภาคท่องเที่ยวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม และ (3) การส่งออกบริการจากสิงคโปร์มีมูลค่ารวมสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งสะท้อนศักยภาพในการพัฒนาภาคบริการ ทั้งการส่งออกบริการรวมและบริการสมัยใหม่ที่สูงถึง 63% และ 70% ตามลำดับ ขณะที่ฟิลิปปินส์ แม้มีสถานะรองเป็นอันดับ 3 ของการส่งออกบริการรวมของอาเซียน แต่การส่งออกบริการสมัยใหม่สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยเฉพาะบริการทางธุรกิจ เช่น ศูนย์บริการลูกค้าและการสนับสนุนด้านไอที รวมถึงบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ

การส่งออกบริการของไทยเทียบ ASEAN

การส่งออกบริการของไทยยังพึ่งพา "ภาคท่องเที่ยว" เป็นหลัก

สำหรับไทย การส่งออกบริการมีบทบาทสำคัญ โดยในช่วงก่อนโควิดมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ต่อ GDP และสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 70 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกบริการที่สำคัญของไทยมาจากภาคท่องเที่ยว และนับได้ว่าสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ในโลกอนาคตที่มีความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดมากขึ้น รวมถึงทิศทางการท่องเที่ยวที่กำลังปรับไปสู่โหมดท่องเที่ยวแบบ exclusive แทน massive และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น การพึ่งพาการเติบโตจากภาคการท่องเที่ยวและเน้นที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ท่องเที่ยว

ส่งออกบริการสมัยใหม่ของไทยมีพัฒนาการอย่างไร ไปต่อไหวหรือไม่

ที่ผ่านมาการส่งออกบริการสมัยใหม่ของไทยมีเติบโตได้เร็วเช่นกัน จากขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ในช่วงก่อนโควิด เป็น 8% ในช่วงหลังโควิด แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9% อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตที่สำคัญว่า (1) 86% ของมูลค่าการส่งออกบริการสมัยใหม่ยังกระจุกตัวอยู่ในหมวดบริการทางธุรกิจ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การเงิน และหมวดอื่นๆ ที่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่าบริการทาง ICT และไม่มีอุปสงค์โลกที่โตมากเท่ากับบริการ ICT และ (2) ในช่วงหลังโควิด การส่งออกบริการ ICT ของไทยกลับหดตัวสูงถึงปีละ 5% จากแรงงานของไทยจำนวนมากยังคงขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยี ขณะที่การส่งออกบริการ ICT ของหลายประเทศยังขยายตัวได้

 

สอดคล้องกับเครื่องชี้ความสามารถในการแข่งขัน RCA (Revealed Comparative Advantage) ที่พบว่า ไทยแข่งขันได้ในหมวดการส่งออกบริการขั้นกลาง (intermediate services[5]สะท้อนจากค่า RCA ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 2.2 เท่า โดยการส่งออกบริการที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และฮ่องกง ในทางตรงข้าม ไทยมีความสามารถในการแข่งขันจำกัดในหลายหมวด โดยเฉพาะบริการทรัพย์สินทางปัญญา ICT และความบันเทิงส่วนตัว[6] ที่ค่า RCA ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 10, 5.9, 1.5 ตามลำดับ

ท่องเที่ยว

มองไปข้างหน้า การส่งออกบริการโดยเฉพาะบริการสมัยใหม่มีศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ หัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้การส่งออกบริการสมัยใหม่ของไทยเติบโตได้ต่อเนื่องนั้น นอกจากอาศัยกระแส Digitalization และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ICT แล้ว ยังขึ้นกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ได้แก่ (1) ทักษะแรงงานโดยเฉพาะด้านภาษา (Language)[7] (2) องค์ความรู้เชิงเทคนิคทั้งการเงิน กฎหมาย ธุรกิจ และเทคโนโลยี (technical knowledge) จุดแข็งสำคัญที่สิงคโปร์และฟิลิปปินส์พัฒนาไปมากกว่าไทย ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วนต่อไป


(1) บริการดั้งเดิม ประกอบด้วย การท่องเที่ยว การขนส่ง และการก่อสร้าง
(2) บริการสมัยใหม่ ได้แก่ บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว การขนส่ง และการก่อสร้าง
(3) Baldwin, 2567
(4) อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย 
(5) บริการขั้นกลาง หมายถึง บริการที่ซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ เช่น call center การพิมพ์ การให้คำปรึกษาระหว่างธุรกิจ
(6) บริการด้านความบันเทิงส่วนตัว (Personal, cultural, and recreational service) หมายถึง บริการทางด้านความบันเทิง เช่น Netflix, Viu
(7) จากการวิเคราะห์ผ่านแบบจำลอง Panel regression ซึ่งใช้ข้อมูล 87 ประเทศ ระหว่างปี 2553-2565 เพื่อหาความสัมพันธ์ของการส่งออกบริการกับตัวแปรต่าง ๆ (อาทิ GDP ประเทศผู้ซื้อและผู้ขาย ความแตกต่างของเขตเวลาของผู้ซื้อและผู้ขาย เขตแดนของผู้ซื้อและผู้ขาย ระดับการศึกษาของผู้ซื้อและผู้ขาย และการใช้ภาษาร่วมกัน) เบื้องต้นพบว่า ทักษะแรงงานโดยเฉพาะทักษะด้านภาษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของการส่งออกบริการ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

วรัญญา

ผู้เขียน : วรัญญา มหาวนากูล
ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 
ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2567