12 ข้อคิดเพื่อชีวิตที่งดงาม

คอลัมน์บางขุนพรหมชวนคิด | 23 ธันวาคม 2567

ตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อของผู้เขียน คือ คุณนพพร สุวรรณิก เป็นพ่อผู้ทันสมัยและเป็นผู้ที่มีศิลปะในการสอนลูกโดยที่ไม่เคยมีการบังคับใด ๆ แต่ให้โอกาสลูกในการทำความเข้าใจและคิดพิจารณาด้วยตนเองเสมอ เมื่อมีเรื่องใด ๆ ที่ต้องอบรมสั่งสอน ก็จะมีวิธีการพูดจาที่ไม่หักหาญน้ำใจ แต่ทำให้ลูกสำนึกได้เอง เรียกได้ว่า เป็นพ่อที่ใคร ๆ ต่างก็ถวิลหา

 

พ่อบอกอยู่เสมอว่า พ่อเลี้ยงลูกให้สามารถบินขึ้นหรือลงได้เสมอ คือขึ้นสูงได้ ขณะเดียวกันก็มีความติดดิน มีสมบัติผู้ดีที่ปุถุชนผู้มีอารยะพึงมี โดยไม่ได้เพียงแค่พูดให้ฟัง แต่แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง และได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างทั้งที่ดีและไม่ดี เพื่อให้ผู้เขียนคิดได้เองว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร ซึ่งผู้เขียนพูดได้เต็มปากว่า เติบโตขึ้นและมีทุกวันนี้ได้ เพราะมีพ่อคอยสนับสนุนเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอน 

CountryTravel

ในโอกาสที่คุณพ่อของผู้เขียนได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ผู้เขียนจึงขออนุญาตสรุปและถ่ายทอดความรู้ส่วนหนึ่งที่คุณพ่อสอนไว้ รวมเป็น 12 ประการ ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์กับการเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้อ่านรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศและโลกใบนี้ต่อไปครับ

1. อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือที่เรียกว่า อย่า self-centered เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา คำสอนนี้ถือเป็นการลดตัวตนหรืออัตตาได้ชะงัดนัก เพราะยิ่งเราเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อำนาจ วาสนา บารมีที่เพิ่มพูนจะทำให้ตัวกูของกูมันใหญ่ขึ้น และทำให้คิดว่าโลกใบนี้ต้องเป็นไปตามที่เรากำหนดเสมอ สุดท้ายแล้ว เมื่ออะไรที่เราไม่พอใจหรือไม่เป็นไปตามที่ใจหวัง เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข และเป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย จะคบก็แต่เพราะผลประโยชน์ที่เรามีให้ได้ฉาบฉวยเพียงเท่านั้น

2. ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้ออกมาดังใจหวัง ก็ไม่เป็นไร เพราะการตั้งใจทำอะไรอย่างหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่สามารถเป็นไปได้ดังหวัง หลายครั้งมันอยู่ที่โชคชะตาและเหตุปัจจัยมากมาย ไม่ใช่ความพยายามหรือความสามารถของเราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ตราบใดที่เราทำเต็มที่แล้ว เราควรภูมิใจในตัวเอง เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่คำนึงถึงแต่ผลลัพธ์เท่านั้น แต่เป็นคนที่ไม่ลืมเส้นทางที่เดินไปนั้นด้วยเสมอ

3. ความร่ำรวยเงินทองไม่ควรเป็นเป้าหมายของชีวิตเพียงอย่างเดียว จริงอยู่ที่ว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายก็เพราะมีปัจจัยสี่และมีเงินทองเกื้อหนุนให้ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย และสามารถรังสรรค์ประโยชน์อื่น ๆ ให้เกิดขึ้นต่อไปได้กับทั้งตนเองและผู้อื่น แต่เป้าหมายอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน หนึ่งในเป้าหมายอื่นที่คุณพ่อของผู้เขียนมุ่งกระทำให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ คือ การเป็นผู้ที่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่เป็นนิจ เพราะพ่อเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะคอยให้ความช่วยเหลือลูกน้อง คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งความเมตตาที่พ่อมีต่อลูกเด็กเล็กแดง ซึ่งเป็นเหมือนออร่าที่ทำให้เด็กน้อย ที่ไม่ใช่แม้แต่หลานตนเอง ก็เข้าหาพ่อและรักพ่อเสมอ

4. อย่าก่อหนี้โดยไม่จำเป็น คุณพ่อกล่าวย้ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อลูกได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานว่า ถ้าอยากได้อะไรที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ให้เก็บหอมรอมริบด้วยตนเอง อย่าก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และให้รู้จักคุณค่าของเงินที่หามาได้ในแต่ละบาท

5. มนุษย์จะดีหรือเลว จะมีอารยะหรือน่าติเตียน ขึ้นอยู่กับการกระทำ ไม่ใช่ชาติกำเนิด ผู้เขียนเชื่อว่าคุณพ่อได้รับการถ่ายทอดคำสอนนี้มาจากคุณปู่โดยตรง (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ร่มไทร สุวรรณิก) เพราะคุณปู่เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีอำนาจหรือร่ำรวยอะไร แต่สร้างตัวเองและครอบครัวขึ้นมาได้ด้วยความวิริยะอุตสาหะของตนเองโดยมีคุณย่า (คุณกำนล สุวรรณิก) เป็นลมใต้ปีกคอยเกื้อกูลสนับสนุน คุณพ่อจึงนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองมาโดยตลอด และทำให้ผู้เขียนเห็นได้จริง

6. ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ใครเห็นใครก็รัก คำสอนนี้เป็นคำสอนที่พ่อให้ความสำคัญมาก เป็นคำสอนที่ช่วยเตือนสติผู้เขียน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จจนอาจลืมตัว ซึ่งได้นำมาปรับใช้อย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีใครที่จะรักและเมตตาคนที่ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

1

7. คนมีไม่อวด คนอวดไม่มี เป็นอีกหนึ่งคำสอนที่ผู้เขียนจำได้ขึ้นใจ และเป็นคำสอนที่ทันสมัยเป็นอย่างยิ่งกับยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับวัตถุ คนที่มีจริง ๆ จะไม่ต้องอวด ขณะที่คนอวดฐานะทางสังคม อวดร่ำอวดรวย ก็คือคนที่ไม่มี สิ่งเหล่านี้เพิ่มความสามารถในการอ่านและเข้าใจผู้คนของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี

8. วาจาส่อภาษา กิริยาส่อสกุล พ่อให้ความสำคัญเสมอกับการวางตัวในสังคม เพราะไม่เคยคิดที่จะทำตามใจตนเอง โดยไม่ได้แคร์คนอื่น และต้องการทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้างมีความสุขและอยากที่จะปฏิบัติตามมารยาทดี ๆ นี้เช่นเดียวกัน เช่น พ่อจะบอกเสมอว่าให้รับประทานอาหารอย่างสุภาพ มีสติ ไม่เร็ว และไม่ช้าเกินไป ซึ่งนอกจากจะทานอย่างสุภาพแล้ว ยังมีผลดีชัดเจนต่อร่างกายคือ พ่อไม่เคยมีปัญหาในการย่อย เพราะเคี้ยวอาหารอย่างละเอียด

9. เดินทางไปที่ใด อย่าได้ใช้ชีวิตด้วยความประมาท ทุกครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปแห่งหนตำบลใด จะในหรือต่างประเทศ คำอวยพรของพ่อนอกจากจะให้ลูกโชคดีแล้ว ยังมีคำเตือนจากพ่ออยู่เสมอที่จำขึ้นใจ คือ อย่าประมาท ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเราไม่ประมาท ผลลัพธ์ ย่อมออกมาดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้

10. เป็นคนดีที่ต้องไม่ให้ใครมาเอาเปรียบ พ่อย้ำเสมอว่า ในสังคมย่อมมีคนที่ต้องการจะเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้น การที่เราพยายามทำความดี ไม่ได้หมายความว่าจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบเราได้ แต่เราต้องรู้จักวางตัว และให้รู้เส้นแบ่งของความสัมพันธ์นั้น เราไม่เอาเปรียบเขา และเราให้เขามากกว่าที่เราได้จากเขา แต่อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ

11. ความกตัญญูเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ คำสอนนี้พ่อได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่เคยต้องพูด นั่นคือ การเป็นลูกที่ดีต่อคุณปู่คุณย่าสม่ำเสมอไม่เคยเสื่อมคลาย ไม่ว่าพ่อจะอายุเท่าไหร่ พ่อยังคงให้ความสำคัญกับคุณปู่คุณย่า คอยดูแลและพาไปทานข้าวอร่อย ๆ กันทุกสุดสัปดาห์ตั้งแต่ผู้เขียนยังจำความได้ รวมทั้งไม่ว่าจะมีเรื่องอะไร จะมาเล่าและปรึกษาคุณปู่คุณย่าอยู่เสมอ และในทางกลับกัน พ่อก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับคุณปู่คุณย่าเช่นกัน

12. ความรักที่บริสุทธิ์ คือ ความรักที่ปราศจากเงื่อนไข พ่อยังมีคำสอนที่เกี่ยวข้องกับความรัก โดยความรักที่มีเงื่อนไข มักเป็นความรักที่มาพร้อมกับความอยากให้เป็นดังใจเรา และมักนำมาซึ่งความทุกข์แก่เราเสมอ ความรักที่แท้จริงไม่ว่าจะต่อคนรัก ต่อครอบครัว หรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงควรเป็นความรักความเมตตาที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ แต่ทั้งนี้ ความรักดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ เรารู้แล้วว่าคน ๆ นั้น ไม่ได้จะมาเอาเปรียบเรา

1

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส่วนหนึ่งของคำพ่อสอนที่ได้รวบรวมมานี้ จะเป็นวิทยาทานสำคัญให้ท่านผู้อ่านได้นำไปคิดพิจารณา หากเห็นว่าคำสอนใดเป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตและให้คุณพ่อนพพร สุวรรณิกได้มีส่วนแห่งบุญกุศลที่ได้ถ่ายทอดคำสอนดี ๆ ทั้งหมดนี้ต่อไปชั่วกาลนานครับ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน : สุพริศร์ สุวรรณิก

นักศึกษาปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์การเงินครัวเรือน 

University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"
ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2567