ต้อนรับปีใหม่…ด้วยการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม
09 มกราคม 2567
สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านแจงสี่เบี้ยทุกท่านนะคะ ผู้เขียนขอเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาทักษะแบบผสมผสาน ทั้ง Technical skills และ Soft skills โดยเฉพาะทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Socio-emotional skills)
จากรายงาน Future of Jobs Report 2023 ของ World Economic Forum (WEF) ที่ได้มีการสำรวจความเห็นกว่า 800 บริษัท ใน 45 ประเทศ สะท้อนว่า การพัฒนาเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การใช้เครื่องจักรทดแทนคน (Automation) มีอัตราต่ำกว่าที่เคยมีการสำรวจไว้เมื่อ 4 ปีก่อน
โดยผลสำรวจปี 2020 สะท้อนว่า มีงานเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ที่จะใช้เครื่องจักรทดแทนคนภายในปี 2025
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลสำรวจปี 2023 พบว่า มีงานลดลงเหลือราว 42% ที่คาดว่าจะใช้เครื่องจักรทดแทนคนภายในปี 2027 ทั้งนี้ เพราะ Automation ในบางลักษณะงานเช่น Manual work มีน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ในอดีต แต่ในทางตรงข้าม เทคโนโลยี AI ที่มีการพัฒนาขึ้น อาจทำให้บางลักษณะงาน เช่น การประสานงานและการสื่อสาร จะมีการใช้พนักงานลดลงในอนาคตก็เป็นได้
ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังสะท้อนว่า ทักษะสำคัญที่นายจ้างต้องการ ประกอบด้วย
1. ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะ งานด้าน AI และ Big Data โดยบริษัทราว 86% คาดว่าจะพัฒนา digital platform ภายใน 5 ปีข้างหน้า
2. ทักษะด้านความคิด โดยเฉพาะ การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative thinking) ที่ผลสำรวจในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่านายจ้างอยากเห็นพนักงานมีมากที่สุด
3. ทักษะด้านอารมณ์และสังคม เป็นทักษะที่มาแรงและเป็นที่ต้องการมากของนายจ้าง ประกอบด้วย ความกระตือรือร้น (Curiosity) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ตลอดจนความพร้อมในการรับมือกับปัญหาและการปรับตัวได้ มีความยืดหยุ่น (Resilience, flexibility and agility) ความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ ในเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเรา (Self-awareness) รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) และการเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในสังคม (Social influence)
เหตุใดทักษะด้านอารมณ์และสังคมจึงมีความสำคัญ
เพราะเป็นพื้นฐานต่อการมีสุขภาพกายและใจที่ดี ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการรู้คิด (Cognitive skill) และทำให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นขึ้น แม้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (Shocks)
ในกรณีเด็ก จากงานศึกษาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า การจัดการด้านอารมณ์และสังคม เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของคนทุกช่วงวัย โดยครอบครัวและครู สามารถช่วยกันส่งเสริมทักษะดังกล่าวแก่เด็กได้
การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ประกอบด้วย ความสามารถที่สำคัญ 5 ด้าน คือ 1.การตระหนักรู้ตัวเอง (Self-awareness) เช่น การรับรู้ความสามารถของตัวเอง 2.การจัดการตัวเอง (Self-management) เช่น การมีวินัยในตัวเอง 3. การตระหนักรู้สังคม (Social awareness) เช่น การเข้าอกเข้าใจ (Empathy) 4. ทักษะสัมพันธภาพ (Relationship skill) เช่น การทำงานร่วมกัน (Teamwork) และ 5. การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ (Responsible decision-making) เช่น การแก้ไขปัญหา (Solving problems)
เครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคมและสังคมแก่เด็ก ประกอบด้วย
1. S.A.F.E. ใช้สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอาใจใส่ทักษะทางอารมณ์และสังคม คือ Support การสนับสนุน เช่น ส่งเสริมให้เด็กรู้จักเพื่อนใหม่/ Affirm การแสดงความเห็นพ้อง เช่น การรู้สึกถึงความสำเร็จของเด็ก/ Familiarize การทำให้คุ้นเคย เช่น การคำนึงถึงความชื่นชอบของเด็ก และ Empathize การเอาใจใส่ เช่น ความต้องการของเด็ก
2. T.A.D ใช้ในการพูดคุย คือ Talk การพูดคุย/ Ask การถาม และ Discuss การสนทนาหารือ
ทาง Dr. Hannah Ulferts จาก OECD ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำ การประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในแต่ละประเทศ เคยให้มุมมองว่า เด็กๆ ของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก สามารถไปเรียนหนังสืออย่างมีความสุขและเติบโตอย่างมีคุณภาพและพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางโรงเรียนได้ปลูกฝังทักษะทางอารมณ์และสังคมแก่เด็กไว้ โดยการทำงานทุกอย่างจะมีโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น หากมีทักษะในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ตนเอง ทักษะการเข้าสังคมหรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงทักษะการโน้มน้าวใจคน โดยทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้จักปรับตัวตามความเหมาะสมของสถานการณ์
การปลูกฝังทักษะเหล่านี้แก่เด็กทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วนใหญ่มักจะทำเพียงการให้เด็กจับกลุ่มทำงาน แต่แท้จริงแล้ว ควรมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างครูและนักเรียน โดยครูควรต้องมีทักษะนี้ในตัวเองเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน รวมถึงอาจมีเครือข่ายระหว่างโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ ชุมชนโดยรอบสามารถมีบทบาทเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมแก่เด็กได้ อาทิ บริการสาธารณะ (Community services) เช่นการจัดตั้งห้องสมุดชุมชน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่เรียนรู้ได้มากขึ้นนอกจากที่บ้านและโรงเรียน
สำหรับกรณีการทำงาน นายจ้างเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในที่ทำงาน หากพนักงานเรียนรู้ได้เร็ว กล้าเสนอความเห็นใหม่ ๆ ย่อมเป็นผลดีต่อองค์กร ซึ่งการเรียนรู้ไปพร้อมกันจะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ ย่อมขึ้นกับความพร้อมด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมของพนักงาน
การมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่พร้อม ย่อมทำให้มีการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ซึ่งสอดรับกับงานศึกษาของ WEF ที่สะท้อนว่า องค์กรส่วนใหญ่มักมองหาพนักงานที่มีภาวะความเป็นผู้นำ และสร้างแรงบันดาลใจทางสังคม และทำงานกับผู้คนที่หลากหลายได้
การสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคม อาจเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็กโดยผู้ปกครอง โรงเรียน ชุมชน แต่ไม่ควรหยุดการพัฒนาเพียงเด็กเท่านั้น วัยทำงาน ก็สามารถพัฒนาทักษะนี้เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีความสุข ส่วนในวัยเกษียณแล้ว ก็ยังสามารถสานต่อทักษะเหล่านี้ต่อไปได้ โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในโลกที่หมุนเร็ว
เรามาสร้างเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคมกันอยู่ตลอดเวลา รับปีใหม่นี้กันนะคะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **