โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ณ จุดที่ยืนอยู่

18 มีนาคม 2567

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 ว่า GDP ขยายตัวเพียง 1.9% หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีคำอธิบายสาเหตุแตกต่างกันไปตามแต่ละมุมมอง ทั้งนี้ สภาพัฒน์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจไทยได้เผยแพร่ข้อมูลในหลายมิติมากกว่าตัวเลข GDP ที่พาดหัวข่าว จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาดูข้อมูล GDP โดยละเอียด ซึ่งฉายภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันครับ

Thai regions

ขอเริ่มต้นด้วยการวัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจอย่างง่าย สมมติว่า นาย ก. ผลิตสินค้าชิ้นหนึ่ง แล้วขายให้ผู้ซื้อ คือ นาย ข. เราอาจวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ได้ 3 วิธี คือ (1) สินค้านั้นมีมูลค่ากี่บาท (2) นาย ข. จ่ายเงินซื้อสินค้าไปกี่บาท และ (3) นาย ก. รับรายได้กี่บาท ทั้ง 3 วิธีนี้ควรจะให้ตัวเลขที่เท่ากัน และนี่คือวิธีวัด GDP ที่แบ่งได้ 3 แบบ คือ (1) ด้านการผลิต (2) ด้านรายจ่าย และ (3) ด้านรายได้

 

ท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องเศรษฐกิจน่าจะคุ้นเคยกับสมการ GDP = C+I+G+X-M ซึ่งเป็นการวัด GDP ด้าน “รายจ่าย” การวัดแบบนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ว่าสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาในประเทศ (GDP) นั้น มีผู้จ่ายเงินซื้อไปบริโภคเท่าไร (C: Consumption) มีผู้จ่ายเงินซื้อเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจเท่าไร (I: Investment) ภาครัฐเป็นผู้จ่ายเงินซื้อไปเท่าไร (G: Government) ต่างชาติเป็นผู้จ่ายเงินซื้อไปเท่าไร (X: Export) และเมื่อหักการนำเข้าแล้ว (M: Import) ก็จะมีมูลค่าเท่ากับสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ

 

จากรายงานสภาพัฒน์พบว่า GDP ของไทย ณ ราคาประจำปี 2566 มีมูลค่า 17.9 ล้านล้านบาท เมื่อคำนวณมูลค่าของแต่ละองค์ประกอบเป็นสัดส่วนต่อ GDP เพื่อดูโครงสร้างเศรษฐกิจ พบว่า C = 57.7%, I = 17.3%, G = 22.2%, X = 65.4%, M = 63.7%  ซึ่งผมมีข้อสังเกต 3 เรื่อง คือ (1) การใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคภาคเอกชนประมาณ 60% ของ GDP ขณะที่ภาครัฐมีสัดส่วนเล็กกว่าที่ประมาณ 20% (2) ไทยยังต้องพึ่งพิงอุปสงค์ต่างประเทศในสัดส่วนที่มาก 65% ของ GDP ซึ่งแบ่งเป็นการส่งออกสินค้า 54% และการส่งออกบริการ 11% อีกทั้งไทยมีการนำเข้าจำนวนมากเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและเพื่อบริโภค เช่น น้ำมัน (3) การลงทุนภาคเอกชนของไทยมีสัดส่วนต่ำที่ 17.3% ของ GDP และเมื่อนำการลงทุนภาครัฐที่ 5.6% ของ GDP มารวมด้วย ก็จะได้เพียง 23% เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนนี้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามและอินโดนีเซียที่อยู่ประมาณ 30% ของ GDP

 

ถัดมา ผมขอชวนมาดู GDP ที่วัดจากด้านการผลิต ซึ่งจะเห็นภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็น “รายสาขา” ที่ชัดเจนขึ้น จากโครงสร้าง GDP 100% พบว่าเป็นมูลค่าเพิ่มที่มาจากภาคเกษตรประมาณ 10% ภาคอุตสาหกรรม 30% ภาคบริการ 60% ทั้งนี้ ภาคบริการสามารถแบ่งย่อยได้อีก เช่น การค้าส่งค้าปลีก 16% โรงแรมและร้านอาหาร 5.4% การขนส่ง 5.1% การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 5.1% ธุรกิจการเงินและประกัน 9.4% การสื่อสารและโทรคมนาคม 2.9% เป็นต้น

 

ในปี 2566 แต่ละสาขาธุรกิจก็เผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ภาคเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว ขณะที่ภาคบริการฟื้นตัวได้บ้าง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ความรู้สึกและมุมมองต่อเศรษฐกิจจึงอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในสาขาไหนของเศรษฐกิจ อีกทั้งในแต่ละพื้นที่และภูมิภาคก็มีการฟื้นตัวที่ต่างกันด้วย

 

โครงสร้าง GDP ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการวัด “มูลค่าเพิ่ม” หรือ “รายได้” ที่แต่ละสาขาธุรกิจผลิตขึ้น แล้วรายได้ดังกล่าวลงไปสู่คนจำนวนเท่าใดบ้าง การสำรวจภาวะแรงงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประเทศไทยมีผู้มีงานทำทั้งหมด 39.9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 30% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม 16% ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 20% และภาคบริการอื่น ๆ 34% ทั้งนี้ ภาคเกษตรมีสัดส่วนเพียง 10% ของ GDP แต่ต้องแบ่งรายได้ระหว่างคน 30% ของผู้มีงานทำทั้งหมด จึงไม่แปลกที่รายได้เกษตรกรไทยจะน้อยมากเมื่อเทียบกับสาขาอื่น เช่น ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน GDP ประมาณ 10% โดยมีสัดส่วนแรงงานประมาณ 20% หรือภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนใน GDP 30% โดยมีสัดส่วนแรงงาน 16% ซึ่งสะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ในระดับสูง

 

ในอดีต เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำ มาสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูง สาขาเด่น ๆ เช่น รถยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และหลังวิกฤตปี 2540 แรงงานก็เคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคบริการและการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวจนรองรับนักท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคนก่อนช่วงโควิด ลูกหลานคนต่างจังหวัดที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้ส่งเงินกลับไปจุนเจือครัวเรือนในภาคเกษตรทำให้เราอยู่มาได้

 

ในตอนนี้ เราไม่สามารถพึ่งพาการเคลื่อนย้ายแรงงานได้เหมือนในอดีต ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากถึงประมาณ 3 ล้านคน หนทางที่จะเพิ่มรายได้คือการพัฒนาผลิตภาพของทุกสาขา ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้สูงขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้แรงงานไทยที่กระจายทำงานในทุกสาขาเศรษฐกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เราไม่มีมาตรการใดเป็นยาวิเศษเม็ดเดียวที่แก้ไขได้ทุกปัญหา มีแต่ต้องร่วมกันผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจำนวนมากที่รออยู่เพื่อเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยครับ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :

นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 – 20 มีนาคม 2567