ความน่าดึงดูดการลงทุนในไทย จากสายตานักลงทุนญี่ปุ่น

26 พฤศจิกายน 2567

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นจุดหมายหลักของการลงทุนของญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงสุทธิ (FDI) ในไทยถึงร้อยละ 22 ของการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนกว่าร้อยละ 36 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยในช่วงปี 1960 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยในขณะนั้นสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นได้ในฐานะประเทศเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาค จากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 5% ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี และการเมืองที่มีเสถียรภาพ

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าและการลงทุนของโลก หากนับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก สัดส่วนการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปรับลดลงจาก 16% ในปี 2016 เหลือเพียง 11% ของการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2023 ธุรกิจต่างชาติในจีนจึงต้องกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า เป็นที่รู้จักกันในชื่อกลยุทธ์ "China plus one" ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการย้ายการลงทุนออกจากจีนเช่นกัน โดยหากเทียบค่าเฉลี่ยการลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงปี 2014 – 2020 และปี 2021 - 2023 พบว่าการลงทุนสุทธิของญี่ปุ่นในจีนลดลง 0.3 ล้านล้านเยน (-39%) ขณะที่การลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านล้านเยน (+33%) โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับประโยชน์จากทั้งด้านตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้จีนและห่วงโซ่อุปทานเดิมที่แข็งแกร่ง

CountryTravel

แต่ไทยไม่ใช่จุดหมายหลักของเม็ดเงินลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นอีกต่อไป เนื่องจากประเทศที่ได้รับเงินลงทุนสุทธิเฉลี่ยสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2021 – 2023 รองจากสิงคโปร์คือเวียดนาม ที่เงินลงทุนสุทธิจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากถึง 2.6 แสนล้านเยน (+54%) โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม AI และเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ ขณะที่การลงทุนสุทธิในไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.8 แสนล้านเยน (+13%) ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยตกลงไปเป็นอันดับที่ 3 

ธนบัตรไทย เพื่อนคู่ใจของคนไทย

จากผลสำรวจล่าสุดของ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ในปี 2023 พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีมุมมองด้านบวกต่อโอกาสทางธุรกิจในเวียดนามในระยะ 3 ปีข้างหน้าสูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสาเหตุที่เวียดนามกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจเหนือไทยเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ

1. เศรษฐกิจที่เติบโตสูง 5-6% ต่อปี จากทั้งด้านการบริโภค การลงทุน และการส่งออก

2. มีประชากรในวัยแรงงานมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเวียดนามมีกำลังแรงงานกว่า 56 ล้านคนและอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 34.1 ปี ซึ่งเป็นทั้งกำลังแรงงานและกำลังซื้อในประเทศ

3. ค่าแรงที่ต่ำเมื่อเทียบกับทักษะ โดยค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 8,800 บาทต่อเดือน โดยมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับ “ปานกลาง” และมีคะแนน PISA ซึ่งสะท้อนความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเยาวชน สูงถึงลำดับที่ 34 ของโลก

table

[1] Hiring Costs in ASEAN (aseanbriefing.com) ค่าจ้างขั้นต่ำคำนวณโดยคิด 1 ดอลล่าร์ สรอ. = 33 บาท

[2] EF English Proficiency Index by Country 2024 (worldpopulationreview.com)

[3] PISA Scores by Country 2024 (datapandas.org) PISA score คือการสอบวัดระดับด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของเด็กอายุ 15 ปี

ภายใต้บริบทที่ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะผู้ลงทุนหลักในไทยอย่างญี่ปุ่น จากข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเปรียบเทียบ และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กระทบต่อกำลังแรงงาน อีกทั้งทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้ไทยอาจไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานได้เหมือนในอดีต ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การยกระดับทักษะแรงงานและเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น อาทิ

(1) พัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มผลิตภาพและผลตอบแทนของแรงงาน ผ่านการร่วมมือของทั้งรัฐบาลและเอกชนในการอบรมบุคลากรผ่านระบบการศึกษา ให้มีทักษะสูงเป็นที่ต้องการของตลาด

(2) ดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ทัน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวแก่แรงงานไทยได้ โดยไทยควรลดข้อจำกัดในการดึงดูดแรงงานต่างชาติที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น อนุญาตให้การสอบใบประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพไม่ต้องสอบเป็นภาษาไทย และเพิ่มสัดส่วนลูกจ้างต่างชาติในบริษัทให้สูงขึ้น เป็นต้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันไทยยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคจากห่วงโซ่อุปทานเดิมที่แข็งแกร่ง แต่สัดส่วนเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญในอนาคต เพื่อไม่ให้ไทยถูกทิ้งไว้ในโลกเก่า การปรับตัวที่รวดเร็วและการดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญของไทยในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน : เมธา ยุวรรณศิริ
ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 
ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2567