การส่งออกไทยภายใต้ทรัมป์ 2.0: โอกาสและความท้าทายหากทรัมป์กลับมา

16 ตุลาคม 2567

แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แต่มีความเป็นไปได้ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวแทนพรรคริพับลิกันจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ซึ่งสร้างความกังวลว่านโยบายกีดกันทางการค้าซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของทรัมป์อาจกลับมาและทวีความรุนแรงขึ้นกว่าในสมัยแรก โดยนโยบายการค้าหลักที่ทรัมป์นำมาใช้หาเสียงในครั้งนี้คือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากจีนสูงถึง 60% ซึ่งหากนำมาใช้จริง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้จึงวิเคราะห์นโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการค้าไทย ผ่านการมองผลกระทบของสงครามทางการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และผลที่อาจเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง

การส่งออกทดแทนจีนไปสหรัฐฯ: โอกาสที่ควรคว้าไว้

นับตั้งแต่สงครามการค้าครั้งก่อน มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีน ในช่วงปี 2560 – 2566 ลดลงถึง 15% แต่จีนก็ยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 ซึ่งเป็นโอกาสให้ประเทศอื่นส่งออกทดแทนจีนได้ หากมีการตั้งกำแพงภาษีกับจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีระดับที่สูงเท่ากับที่ทรัมป์หาเสียงไว้ อาจส่งผลให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องลดนำเข้าสินค้าจีนและหันไปนำเข้าสินค้าทดแทนจากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ แทน รวมถึงไทย โดยเมื่อมองจากสงครามการค้าครั้งก่อน มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยและอาเซียน เพิ่มขึ้นสูงถึง 82%1ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการแสวงหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนจีน โดยสินค้าไทยที่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น อาทิ อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ ซึ่งการตั้งกำแพงภาษีครั้งใหม่ก็จะเปิดช่องให้เกิดการส่งออกทดแทนในรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น

 

การโดนสินค้าจีนแย่งตลาด: ความท้าทายที่เลี่ยงได้ยาก

แม้ว่าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงเนื่องจากถูกกีดกันทางการค้า แต่ก็มีโอกาสที่จีนจะส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกของสินค้าไทยทดแทน ทำให้ไทยต้องแข่งขันกับจีนในตลาดนั้นๆ เพิ่มขึ้น และอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วน โดยพบว่าในช่วงเวลาที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-2566 ไทยได้สัดส่วนในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 0.5% (จาก 1.3% เป็น 1.8%) แต่ไทยสูญเสียตลาดในสหภาพยุโรปและอาเซียน 0.1% และ 0.5% ตามลำดับ ในขณะที่จีนได้ส่วนแบ่งในสหภาพยุโรปและอาเซียนกว่า 2.0% และ 5.2% แสดงให้เห็นว่าจีนมีการย้ายตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร

 

นอกจากการแย่งตลาดส่งออกแล้ว สินค้าจีนยังเข้ามาแย่งตลาดสินค้าในไทยด้วยเช่นกัน ระหว่างปี 2560 ถึง 2566 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มมากถึง 55% ซึ่งการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ รอบใหม่ อาจส่งผลให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงและกระจายไปยังสินค้าอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น

logic

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
จะเห็นได้ว่าการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน นำมาทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมของไทยขึ้นอยู่กับผลดีที่ได้จากการส่งออกทดแทนจีน เทียบกับผลเสียจากการถูกสินค้าจีนแย่งตลาด ซึ่งอาจสามารถสะท้อนได้จากดัชนีความคล้ายคลึงของสินค้าส่งออก (Export Similarity Index : ESI) ซึ่งแสดงสัดส่วน “ความคล้ายคลึงกัน” ของสินค้าส่งออกระหว่างสองประเทศ โดยสินค้าใดที่ไทยและจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ คล้ายคลึงกันมาก ก็มีแนวโน้มที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกทดแทนจีนมาก เช่น สินค้าในหมวดอุปกรณ์สื่อสารชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ แต่ในทางตรงกันข้าม สินค้าใดที่ไทยส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คล้ายคลึงกับสินค้าที่จีนถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ก็มีความเสี่ยงที่ไทยจะได้รับผลเสียจากการถูกจีนหันมาแย่งตลาดส่งออกอื่นมาก เช่น สินค้าในหมวดปิโตรเคมี อุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

1

ที่มา: UN Comtrade คำนวณโดย ธปท.

แม้ว่าไทยมีโอกาสจะได้ประโยชน์จากส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน แต่การที่จะคว้าโอกาสไว้ได้หรือไม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งหากไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจส่งผลให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งออกทดแทนจีนมากเท่าที่ควร ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยในตลาดโลกลดลงจาก 0.5% เป็น 0.4% ระหว่างปี 2560-2566 ขณะที่เวียดนามเพิ่มสัดส่วนจาก 5.4% เป็น 7.1%

 

อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งผู้ที่จะชนะการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ด้านนโยบายภาษีเองก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการนำมาใช้จริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะกรณีใด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป หากไทยหวังจะคว้าโอกาสจากสงครามการค้า ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในภาคการส่งออก ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ รวมทั้งการพิจารณาใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนควบคู่กัน


1) ช่วงปี 2560 – 2566 

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
วิชญ์ยุตม์ สุขแพทย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 
ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2567