หลังโควิด ชีวิตของลูกจ้างในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวอย่างไร
29 ตุลาคม 2567
แม้เศรษฐกิจไทยจะกระจุกตัวอยู่ใน กทม. และภาคกลางสูงกว่า 70% แต่ตลาดแรงงานในภูมิภาคเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยจำนวนแรงงานในภูมิภาคมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของประเทศ และเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของลูกจ้างทั้งหมดในประเทศ บทความนี้จึงขอพาผู้อ่าน ไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างในภูมิภาคต่างๆ หลังโควิดว่าเป็นอย่างไร เพื่อเปิดมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานในภูมิภาค ในยุคหลังโควิด-19 โดยอิงข้อมูลการสํารวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor force survey) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบ 4 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ลูกจ้างในภาคเหนือและอีสาน หันไปประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น จากข้อมูลปี 2566 พบว่าแรงงานในภาคเหนือและอีสาน หันไปทำอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) กว่า 5 แสนคน และ 4 แสนคน ขณะที่ลูกจ้างกลับลดลงกว่า 5 แสนคน และ 1 แสนคน สาเหตุจากในช่วงโควิด ลูกจ้างในเมืองใหญ่ๆ ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิด โดยแรงงานคืนถิ่นส่วนใหญ่กลับมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว อาทิ ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งกลับไปทำอาชีพเกษตรกรรม และเปิดร้านขายอาหารหรือร้านกาแฟ การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ลูกจ้าง หันมาประกอบอาชีพอิสระ อาทิ ค้าขายออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น
2. ลูกจ้างในภาคใต้ถูกจ้างงานเป็นรายวันมากขึ้น ตามการปรับตัวของนายจ้าง โดยภาพรวมลูกจ้างในภาคใต้เฉลี่ยครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 2.5 ล้านคน (45% ของกำลังแรงงานรวม) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด คือยังเป็นลูกจ้างอยู่ ไม่ได้หันไปทำอาชีพอิสระเหมือนกรณีภาคเหนือและอีสาน แต่ผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อาทิ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ได้ปรับรูปแบบการจ้างงาน โดยจำนวนลูกจ้างรายวันภาคบริการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่จำนวนลูกจ้างรายเดือนภาคบริการท่องเที่ยวกลับลดลง 5% และจากการสอบถามผู้ประกอบการ พบว่าลูกจ้างเก่าที่มีอยู่เดิม ถูกนายจ้างปรับเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และเพิ่มงานให้ทำงานหลายหน้าที่มากขึ้น
3. ชีวิตลูกจ้างในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ผันตัวไปทำอย่างอื่น (เช่น เกษตรกรรม หรือ อาชีพอิสระ) ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนอาชีพ ยังคงทำงานในอาชีพเดิมเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด สะท้อนจากจำนวนลูกจ้างสูงสุด 5 อาชีพแรกของทั้ง 3 ภาค ยังคงไม่ต่างกับช่วงก่อนโควิด คือ ลูกจ้างภาครัฐ ภาคการค้า ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร และโรงงานการผลิต เมื่อเจาะลึกลงไปในภาคการผลิต พบว่าลูกจ้างส่วนใหญ่ยังคงทำงานในอุตสาหกรรมหลักของแต่ละภาคเหมือนเดิม โดยในภาคเหนือ ลูกจ้างส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอาหาร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ภาคอีสานทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ส่วนภาคใต้ทำงานในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง และการผลิตไม้
4. ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างภูมิภาคในภาพรวมดูดีขึ้น จากมิติรายได้ แต่การฟื้นตัวยังเป็นแบบไม่ทั่วถึง
แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างในภาพรวมประเทศจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด สะท้อนจากรายได้ลูกจ้างหลังหักค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่ในมิติภูมิภาคต่างๆ พบว่า การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง มีบางกลุ่มที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว อาทิ ลูกจ้างนอกภาคเกษตรในภาคอีสาน (มีจำนวน 2.5 ล้านคน คิดเป็น 15% ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ) ที่พบว่ารายได้ยังโตไม่ทันค่าครองชีพ สะท้อนจากรายได้หลังหักค่าครองชีพที่หดตัว 2% เทียบกับช่วงก่อนโควิด
ในมิติรายสาขาอาชีพทั้ง 3 ภาค พบว่า ชีวิตความเป็นอยู่ลูกจ้างในภาคการค้าฟื้นตัวกลับไปดีกว่าก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง Modern trade ในภาคอีสาน สะท้อนจากรายได้ลูกจ้างหลังหักค่าครองชีพที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่งที่สะดวก และมีการเปิดห้างสรรพสินค้าใหม่
ส่วนภาคบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว พบว่าลูกจ้างในภาคใต้ฟื้นตัวดีกว่าภาคอื่น โดยรายได้ลูกจ้างในภาคบริการกลับไปอยู่เท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหลัก อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งผลดังกล่าว ทำให้ในระยะหลังเริ่มเห็นลูกจ้างจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา ย้ายไปหางานทำที่ภูเก็ตมากขึ้น เพื่อหาโอกาสและรายได้ที่ดีกว่า ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวอีสาน ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเที่ยวกันเองในภาค
ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างที่ยังไม่ดี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้างและภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคก่อสร้างในภาคเหนือ ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ปรับตัวหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะที่ลูกจ้างในภาคการผลิต ยังเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของแต่ละภาค ทั้งสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และอิเล็กทรอนิกส์ ในภาคอีสานและเหนือ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารในภาคใต้ ต่างเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากต่างประเทศ
โลกหลังโควิด หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่น่าติดตามคือ ภาพที่เราเห็นวันนี้จะเปลี่ยนไปไหม เนื่องจากข้อมูลล่าสุด (ครึ่งแรกปี 2567) เริ่มเห็นสัญญาณว่ามีแรงงานอาชีพอิสระบางส่วน หันกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีแรงงานคืนถิ่นบางส่วน ที่ไม่ตั้งใจจะกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างในหัวเมืองใหญ่เหมือนเมื่อก่อน เพราะเห็นโอกาสในอาชีพใหม่ มีรายได้เพียงพอและมีความสุขจากการกลับมาอยู่กับครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรต้องปรับตัวรองรับความท้าทายใหม่เช่นกัน โดยต้องหาทางเพิ่มรายได้ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่นำเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มาผสมผสาน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **