Soft Power: อำนาจที่ประเทศไทยยังไงก็ต้องมี

05 กันยายน 2567

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยความคิดถึงเป็นอย่างยิ่งครับ คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” กลับมาแล้วหลังจากห่างหายไปนานเกือบ 9 เดือน โดยบทความนี้เป็นการทักทายท่านผู้อ่านจากแดนไกล เพราะผู้เขียนจับพลัดจับผลูกลับมาเป็นนักเรียนทุนอีกครั้ง และต่อไปนี้ จะขออนุญาต “ชวนคิด” ในประเด็นต่าง ๆ จากอีกซีกโลกหนึ่ง พร้อม ๆ กับผู้เขียนท่านอื่น ๆ จากแบงก์ชาติเป็นประจำกันนะครับ

 

ตั้งแต่ผู้เขียนได้กลับมาอยู่สหรัฐฯ โดยเฉพาะการได้กลับมาในย่านมิดเวสต์อีกครั้งและไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากเมื่อราว 10 ปีก่อนเลย คือ การได้กลับมารับประทานอาหารไทยในร้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะคนชาติไหนก็ติดใจและรู้จักประเทศไทยผ่านอาหารคาวหวานนานาชนิด ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำว่า “Soft Power” ซึ่งเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหูตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน โดยเฉพาะในความหมายของ Soft Power ว่าที่จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่?

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการ จึงค้นคว้าและพบงานวิจัยที่น่าสนใจและมีการอ้างอิงสูงมาก[1] โดยเป็นงานวิจัยทางด้านรัฐศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำในแวดวงวิชาการ แม้ผู้เขียนจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่วันนี้ขอหยิบยกส่วนหนึ่งของงานวิจัยทางด้านรัฐศาสตร์ มาเล่าให้ทุกท่านฟังกันครับ

 

งานวิจัยนี้ได้ประมวลความรู้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในทางรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การมี “Power” หรือ “อำนาจ” คือ การครอบครองความสามารถในการทำให้ผู้อื่นหรือประเทศอื่นทำตาม ทั้งนี้ Power จะแบ่งออกเป็น Hard Power และ Soft Power

 

Hard Power คือ ความสามารถในการ “บังคับ” ให้ผู้อื่นทำตาม โดยส่วนมากมักจะเป็นการใช้กำลังทางทหาร การใช้กลยุทธ์การทูตเชิงบังคับ และการใช้อำนาจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้มายาวนานในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม

 

ในทางตรงกันข้าม Soft Power คือ ความสามารถในการ “ชักจูง” หรือ “ดึงดูด” ให้ผู้อื่นทำตาม ไม่ใช่การบังคับ โดย Soft Power นั้น เป็นคำที่ได้รับการนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี 1990 โดย Joseph Nye นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐฯ และปรากฎในผลงานอื่นของเขาต่อ ๆ มา

กล่าวอีกนัยหนึ่ง Soft Power หมายถึง ความสามารถของประเทศในการชักจูงและดึงดูดประเทศอื่น ๆ ให้ทำตาม ผ่านวัฒนธรรม และที่จริงอาจขยายไปถึงค่านิยมทางการเมืองอีกด้วย โดยอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในการเผยแพร่ Soft Power คือ อุตสาหกรรมบันเทิงและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ (หรือของประเทศไทยคืออุตสาหกรรมอาหารด้วย)

 

มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงเห็นแล้วว่า ประเทศหนึ่ง ๆ ที่จะมีทั้ง Hard Power และ Soft Power ในทางปฏิบัติได้ มักจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศขนาดใหญ่ในโลก

 

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศขนาดเล็กอย่างไทย แม้ว่าจะไม่ได้มีอำนาจเทียบเท่ากับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจการบังคับหรือ Hard Power แต่การจะมีที่ยืนบนเวทีโลกและมีแต้มต่อในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมี Soft Power ที่มากไปกว่าอาหารไทยที่อยู่ตามประเทศต่าง ๆ เพราะการมีสินค้าและบริการที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม จะทำให้คนต่างชาติรู้สึกในเชิงบวกต่อคนไทยและวัฒนธรรมไทย มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการของไทย อยากนำวัฒนธรรมและค่านิยมของไทยไปใช้หรือผลิตซ้ำ และเกิดความตระหนักว่าประเทศไทยเป็นตัวของตัวเอง

 

นอกจากนี้ Soft Power ของไทยยังจะดึงดูดให้คนต่างชาติอยากมาลงทุนสร้างโรงงาน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ มาใช้ชีวิตในเมืองไทย หรือ work from anywhere ที่เมืองไทย ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

 

การจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องพัฒนา Soft Power อย่างสร้างสรรค์และมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง ไม่เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ยกตัวอย่างเช่น

 

- การสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยผ่านอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และทำให้ต่างชาติยอมรับและจดจำไปตลอด ซึ่งสุดท้ายจะกลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

- ผลิตภัณฑ์ไทยที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก เช่น ยาดมสมุนไพร ก็สามารถพัฒนาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ไม่แพ้สินค้าอื่น ๆ

 

- เพลงหรือภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่พัฒนาได้ไม่แพ้เกาหลีใต้ หากมีทรัพยากรในการพัฒนาที่เพียงพอ

 

ผู้เขียนหวังว่า สักวันหนึ่งในช่วงอายุขัยของผู้เขียน คนทั่วโลกจะยอมรับและจดจำประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีสินค้าและบริการอันโดดเด่น มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง มากไปกว่าการนึกถึงแต่แค่ “ผัดไทย” เวลาเจอหน้าคนไทยครับ!

 

[1] Wilson III, E. J. (2008). Hard power, soft power, smart power. The annals of the American academy of Political and Social Science616(1), 110-124.

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก

นักศึกษาปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์การเงินครัวเรือน

University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด”
ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2567