แอ่วงานสัมมนาเมืองเหนือ … เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs

03 กันยายน 2567

เมื่อ 8 ส.ค แบงก์ชาติ สำนักงานภาคเหนือ (สภน.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี โดยผู้ว่าการได้กล่าวเปิดงาน สื่อถึงรูปแบบงานปีนี้ที่เน้นเชิงปฏิบัติการ และตอบโจทย์สำคัญของพื้นที่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs

 

แบงก์ชาติเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs มาโดยตลอด ด้วย SMEs สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างงาน และการแก้ความเหลื่อมล้ำก็ต้องสร้างโอกาสให้ SMEs เติบโต แบงก์ชาติจึงมีบทบาทเสมือนการสร้างถนนเชื่อม SMEs และสถาบันการเงิน (สง.) ให้เข้าใจความคาดหวังระหว่างกันและขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น รวมทั้งให้ SMEs เห็นทางเลือกในการปรับตัวเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ

ทาง สภน. นำโดยคุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ร่วมกับคุณศรันยา อิรนพไพบูลย์ และคุณปราณี จิระกิตติเจริญ ผู้วิเคราะห์อาวุโส สะท้อนงานศึกษาที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับ SMEs ใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา) พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง SMEs 47% ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ


(1) กลุ่มไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับ สง. อย่างไร ไม่รู้จักผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

(2) กลุ่มไม่แน่ใจ เช่น คิดว่าตัวเองอาจจะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะกู้ได้

(3) กลุ่มถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากมีประวัติค้างชำระ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้


หากกลุ่มที่มีศักยภาพได้รับการเสริมความรู้ทางการเงินที่ตรงจุด จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ทาง สภน. จึงได้นำเสนอเครื่องมือเพื่อช่วยแก้ปัญหา กล่าวคือ แบบทดสอบตนเองในการประเมินโอกาสในการขอกู้ ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับ SMEs และศูนย์รวบรวมเครื่องมือด้านการเงิน รวมทั้งยังได้จัดทำโครงการคลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs ซึ่งเป็นโครงการเชิงปฏิบัติการนำร่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก ธ.กสิกรไทย และ ธ.ออมสิน
 

SMEs ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจะได้รู้จักตนเองผ่านการทำแบบทดสอบประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นในการยื่นขอกู้ โดยกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติสามารถเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคารได้ ซึ่งหากมีความพร้อมก็จะได้รับสินเชื่อ แต่หากยังไม่มีความพร้อมก็จะต้องพัฒนาปิดจุดอ่อน ก่อนกลับไปยื่นขอสินเชื่อใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแต่แรก ก็ต้องพัฒนาปิดจุดอ่อน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเสริมทักษะต่าง ๆ ซึ่ง สภน. ได้รวบรวม link ไว้ให้ในเอกสารประกอบการสัมมนา รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษาได้ฟรีจาก FA Center ของ บสย. และหมอหนี้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคาร

ในช่วงเสวนา ประกอบด้วย คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ คุณณวิสาร์ มูลทา ผู้ก่อตั้ง I Love Flower Farm และ คุณพิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานร่วม ธ.กสิกรไทย ซึ่งใน web site แบงก์ชาติ สรุปประเด็น “พลิกความท้าทายเป็นโอกาส ต่างมุมมองการเข้าถึงสินเชื่อ” จากการเสวนาไว้ ดังนี้

 

มุมมองผู้ประกอบการ

คุณธนพงศ์ฯ เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการเงินและการทำธุรกิจ

1. ควรมีการปลูกฝังพื้นฐานการทำธุรกิจและการเงินในระบบการศึกษา

2. สง. ควรให้ความรู้วิธีการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และ
หากถูกปฏิเสธสินเชื่อ สง. ควรให้คำแนะนำว่าต้องปรับปรุงอย่างไร รวมถึง ความแตกต่างของ SMEs ที่อาจจะไม่สามารถใช้เกณฑ์พิจารณาสินเชื่อเดียวกันได้

3. ต้องการให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์โครงการด้านการเงินทั้งหน่วยงานภาครัฐและ สง.เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs ได้เข้ามาเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจให้พัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ

 

คุณณวิสาร์ฯ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและสร้าง connection กับธุรกิจอื่นและหน่วยงานวิจัยภาครัฐ ทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน  และมองว่าธุรกิจควรปรับตัวด้วยการ …

1. สร้างตัวตนให้มีแบรนด์ที่ลูกค้าจำได้

2. จัดทำแผนธุรกิจที่ชัดเจน

3. ให้ความสำคัญกับระบบการเงินหลังบ้านเพื่อให้มีหลักฐานทางการเงิน

4. มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

5. นำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกำหนดราคา

มุมมองสถาบันการเงิน

คุณพิภวัตว์ฯ เห็นว่าการพิจารณาสินเชื่อ SMEs รายใหญ่และรายเล็กมีความแตกต่างกัน
รายเล็กไม่มีงบการเงินและเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนเท่ารายใหญ่ ธนาคารจะใช้การให้คะแนน (credit scoring) และเทียบเคียงกับค่ากลางของธุรกิจเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา รวมทั้งเปิดมุมมองของ สง. ถึง 4 ปัจจัยหลักที่ใช้พิจารณาสินเชื่อ ได้แก่

 

1. คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ ลูกค้าต้องรักษาประวัติไว้ให้ดี และหลักฐานทางการเงินหรือการเดินบัญชีจะช่วยให้พิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น

2. แผนธุรกิจต้องชัดเจนและเป็นไปได้ รวมทั้งคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

3. กระแสเงินสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้คำนวณวงเงินกู้และค่างวดในทางปฏิบัติสำคัญกว่าการทำกำไรหรือขาดทุน

4. หลักประกัน สง. มองว่าเป็นการแสดงความตั้งใจในการรักษาและต่อยอดธุรกิจ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การค้ำประกันหนี้

 

แบงก์ชาติมีความตั้งใจในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จากผลประกอบการไม่แน่นอน ประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ ขาดหลักประกัน ทางคุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา คือ

 

(1) กลไกค้ำประกันเครดิตที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ SMEs

(2) ข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วนขึ้น โดยการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล (open data) ที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลตนเองให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่นได้ จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ด้วยต้นทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง

 

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติในการรับฟังและแก้ปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะ คนท้องถิ่นผ่านสำนักงานภาคค่ะ ท้ายนี้ อย่าลืมติดตามงานสัมมนาของสำนักงานภาคใต้กันต่อด้วยนะคะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ  
ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2567