New Year New You … ปรับแก้หนี้ รับปีใหม่
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 07 มกราคม 2568
สวัสดีปีใหม่ค่ะ ขอให้ท่านผู้อ่านแจงสี่เบี้ยทุกท่านมีความสุข สุขภาพดีทั้งกาย ใจและการเงินนะคะ การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น คงต้องมีการขยับ ปรับกันสักนิด หากเป็นสุขภาพกาย ก็ต้องออกกำลังกายให้ Fit and Firm กัน หากเป็นสุขภาพใจ ก็ต้องปรับใจให้รับแต่สิ่งดีๆ แต่ถ้าเป็นสุขภาพการเงิน ก็ต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี หากเป็นหนี้ ก็คงต้องบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ดำรงชีพอย่างมีความสุข
เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกรายงานที่น่าสนใจไว้ใน web site คือ รายงานติดตามเสถียรภาพระบบการเงิน ปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญบางส่วนสรุปว่า ระบบการเงินไทยในภาพรวมมีเสถียรภาพและสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงได้ ส่วนการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน (household leverage) ลดลง สะท้อนกระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือน (household deleveraging) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่ระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงในบางจุด คือ
(1) การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีสาเหตุ จากทั้งความต้องการสินเชื่อที่ลดลง และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้บางกลุ่มที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและธุรกิจวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises : SMEs) ในบางอุตสาหกรรม
(2) คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ลูกหนี้ SMEs ที่ฟื้นตัวช้าหรือเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าจีน รวมถึงครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับรายจ่ายและภาระหนี้ที่สูง ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ อาจมีสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
(3) หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (gross domestic product : GDP) ยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง ลดทอนกำลังซื้อของครัวเรือน และอาจกระทบต่อกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงในระยะข้างหน้า ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงลดลง หากมีปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ในอนาคต (income shocks)
แบงก์ชาติมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาโดยตลอดนะคะ โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือแบบปูพรมในช่วงโควิด และต่อมาปรับเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด ส่วนในปีที่แล้ว นับแต่ต้นปี มีมาตรการ "Responsible Lending หรือ RL" เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร และปลายปี แบงก์ชาติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้ โครงการ "คุณสู้ เราช่วย"
การออกมาตรการ "RL" เพื่อการปรับพฤติกรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยให้ "เจ้าหนี้รับผิดชอบ" ช่วยลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ "ลูกหนี้มีวินัย" ทางการเงินที่ดีขึ้น ผ่านการให้ข้อมูล เงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และบริหารจัดการหนี้ของตนเองได้
1. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ
2. การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt, PD) ให้กลุ่มเปราะบาง โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้
3. การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น รู้อัตราดอกเบี้ยและภาระดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการกู้ ทั้งกรณีการจ่ายปกติ การจ่ายขั้นต่ำและการผิดนัดชำระ รวมถึง รู้ข้อดี-ข้อเสีย ของการแก้หนี้วิธีการต่างๆ
สำหรับโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เป็นมาตรการเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้รายย่อยเฉพาะกลุ่มตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ เช่น ทำสัญญาสินเชื่อก่อนปี 67 โดยมีวงเงินสินเชื่อไม่สูงมากและมีสถานะหนี้ ณ สิ้นเดือน ต.ค.67 เป็น NPL ไม่เกิน 365 วัน เป็นต้น โดยลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ หากสามารถทำตามเงื่อนไขของโครงการได้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถ "ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว" โดยมี 2 มาตรการ
มาตรการที่ 1 "จ่ายตรง คงทรัพย์" เป็นการช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ ลูกหนี้ต้องไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง
มาตรการที่ 2 "จ่าย ปิด จบ" เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน
ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่มุ่งหวังในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแบงก์ชาติ แต่รวมถึงภาครัฐ ผู้ให้บริการทางการเงิน และที่สำคัญคือ ตัวลูกหนี้เองนะคะ ผู้เขียนขอส่งกำลังใจแก่ลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ และ การเงินรับปีใหม่นี้ ดังคำที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐฉันท์ใด การไม่มีหนี้ ก็เป็นลาภอันประเสริฐ ฉันท์นั้นค่ะ มาร่วมกันเป็น New You รับ New Year นี้กันนะคะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2568