"สตางค์ Story" แบงก์ชาติใส่ใจการให้ความรู้ทางการเงิน
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 18 กุมภาพันธ์ 2568
การวางรากฐานความรู้ทางการเงิน เป็นอีกบทบาทหนึ่งซึ่งแบงก์ชาติให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องนะคะ โดยให้ความรู้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดจนร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ
เมื่อ 19 ธ.ค 2567 แบงก์ชาติได้ทำ MOU โครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) กับ สนง. เลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ก.ล.ต. และมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะการเงินในระบบการศึกษา รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา โดยบทบาทของแบงก์ชาติ คือ การสนับสนุนความรู้ด้านการเงิน ผ่านการผลิตครูการเงิน โดยจัดทำหลักสูตรความรู้ทางการเงินแก่นักศึกษาครู (ครูใหม่) และจัดอบรมยกระดับความรู้แก่ครูปัจจุบัน เพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้ทางการเงินแก่นักเรียน ให้มีค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง
ล่าสุด เมื่อ 20 ม.ค. 2568 แบงก์ชาติได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวถึง มช. ในฐานะมหาวิทยาลัยต้นแบบ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านและส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้อย่างครบวงจรให้แก่นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป ผ่านงาน 4 ด้าน คือ 1. การผลักดันวิชาความรู้ทางการเงินเข้าสู่วิชาศึกษาทั่วไป 2. การพัฒนาครูให้เป็น "ครูสตางค์" สามารถสอนเรื่องการเงินได้ 3. การสร้าง "หมอหนี้" เพื่อช่วยแก้หนี้ในมหาวิทยาลัยและชุมชน 4. ความร่วมมืออื่นๆ เช่น "Life Long Learning" การเรียนรู้ตลอดชีพเพื่อประชาชนทั่วไป
ผู้ว่าการ ธปท. ยังได้กล่าวถึงปัจจัยที่จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องดำเนินการใน 3 มิติควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มรายได้ การดูแลรายจ่าย และการแก้ปัญหาหนี้ โดยในบริบทครัวเรือน ทำได้ ดังนี้
1. การศึกษาที่ดี จะช่วยเพิ่ม "รายได้" แต่จะให้รายได้โตต่อเนื่อง ต้องไม่หยุดเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องจำเป็น
2. การบริหารจัดการเงิน หรือ "ใช้เงิน" อย่างฉลาด เพื่อให้ไม่พลาด กลายเป็นปัญหาหนี้ โดยยกตัวอย่าง Tips and trick ให้เงินออกจากกระเป๋าอย่างฉลาด เช่น (1) คิดก่อนใช้ ว่าจำเป็นแน่ ๆ หรือแค่อยากได้ (2) ระวัง impulse spending อาทิ ซื้อเพราะแรงกระตุ้น เช่น โปร 1/1 โดยให้ Tips ว่า อาจกดใส่ตะกร้าแล้วทิ้งไว้ก่อน 2-3 วัน ว่าจำเป็นต้องซื้อจริงหรือไม่ (3) เช็คก่อนช้อป ว่า ร้านไหนถูกกว่า และ (4) เช็คให้ช็อก โดยตรวจสอบสถานะรายจ่ายทุกเดือน
3. การระมัดระวัง ไม่ให้ติดกับดักการเป็น "หนี้" โดยปัจจุบัน พบว่า คนไทย (1) เป็นหนี้เร็วขึ้นโดย 50% ของคนไทยอายุ 30 ปีมีหนี้ และประมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มดังกล่าวเป็นหนี้เสีย (2) เป็นหนี้มากขึ้น โดยสัดส่วนประชากรที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก กว่า 20% ในปี 2552 เป็น กว่า 30% ในปี 2561 และ (3) เป็นหนี้นานขึ้น แม้จะเกษียณอายุ ก็ยังใช้หนี้ไม่หมด โดยคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ยราว 4.5 แสนบาทต่อราย ส่วนคนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ยเกือบ 3 แสนบาท
สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งในปัจจุบัน คือ ภัยการเงิน ซึ่งมีหลายรูปแบบและเป็นเรื่องที่พบได้ทุกช่วงอายุ โดยกลุ่มเด็กและวัยรุ่นมักถูกหลอกผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เกมออนไลน์ กลุ่มวัยทำงานอาจโดนหลอกซื้อของออนไลน์ หลอกร่วมลงทุน หรือ หลอกกู้เงินออนไลน์ ส่วนวัยผู้ใหญ่อาจโดนหลอก Romance scam ขณะที่วัยสูงอายุมักโดนหลอกให้โอนเงิน แก๊ง call center ดังนั้น จึงต้องมีความรู้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบต่างๆ
"สตางค์ Story" ใน web site แบงก์ชาติ (https://www.bot.or.th/th/satang-story.html) คือ ตัวช่วยที่สำคัญในเรื่องความรู้ทางการเงิน และการแก้หนี้ โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ดังนี้
1. วางแผนทางการเงิน มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ (1) ประเมินฐานะการเงิน และควรจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน เพื่อรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง (2) ตั้งเป้าหมายและกำหนดเวลาที่จะพิชิตเป้าหมายให้ชัดเจน (3) จัดทำแผนการเงิน ทั้งรายได้ รายจ่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ (4) ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด (5) ตรวจสอบว่าเป็นไปตามแผนทีี่วางไว้หรือไม่
2. พิชิตหนี้ในที่เดียว ทั้งเรื่องควรรู้ก่อนเป็นหนี้ เช่น จะเลือกผ่อนบ้าน ต้องเปรียบเทียบอะไรบ้าง และการจัดการหนี้ เช่น ขอปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่เหมาะกับตัวเรา
3. ภัยทางการเงิน เพื่อรู้ทันกลโกงแบบต่างๆ
4. รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ โดยรวมเรื่องน่ารู้สำหรับผู้ใช้บริการทางการเงิน เช่น การคิดดอกเบี้ยเงินกู้
5. ความรู้การเงินดิจิทัล อาทิ e-Money
นอกจากแหล่งความรู้ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องมือทางด้านการเงิน (Financial Tools) ซึ่งมีโปรแกรมคำนวณและเปรียบเทียบที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องเงินกู้ว่าต้องผ่อนเดือนละเท่าไร ผ่อนนานเพียงใด เรื่องเงินออมว่าอยากมีเงินเก็บเท่านี้ ต้องออมเท่าไร นานกี่ปี และยังมีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วยค่ะ
ที่สำคัญ คือ มี "สตางค์ School" ที่รวบรวมสื่อการสอนความรู้ทางการเงินที่น่าสนใจซึ่งคุณครูสามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการสอนได้ตามความเหมาะสมของนักเรียนแต่ละช่วงวัย โดยมีแยกตามระดับชั้น ทั้ง ม.ต้น ม.ปลาย และ ปวส./มหาวิทยาลัย
นอกจากการสร้างคลังความรู้ออนไลน์ "สตางค์ Story" และการร่วมมือกับภาคีเพื่อบ่มเพาะความฉลาดรู้ทางการเงินแล้ว แบงก์ชาติยังมีโครงการดี ๆ อาทิ โครงการ "Fin.ดี We Can Do!!!" ที่ร่วมกับ สนง.คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาตั้งแต่ปี 2561 จัดการประกวดผลงานส่งเสริมความรู้ทางการเงิน โดยเยาวชนอาชีวศึกษาได้รับการบ่มเพาะความรู้ทางการเงินและทักษะที่จำเป็น รวมถึงสร้างแกนนำจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่ยั่งยืน และมีพฤติกรรมการออมที่ดีขึ้น
แบงก์ชาติยังมีโครงการ "Fin.ดี Happy Life!!!" ตั้งแต่ปี 2562 ที่เข้าไปช่วยปรับพฤติกรรมและสร้างทักษะทางการเงินแก่กลุ่มคนวัยทำงาน โดย “สาวโรงงาน” เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในพระสยาม BOT Magazine ฉบับ 26 ก.ย. 2567 ที่ได้รวบรวมเรื่องราวความสำเร็จของ "สาวโรงงาน" ที่ความรู้ทางการเงินเข้ามามีส่วนช่วยค่ะ
ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจของแบงก์ชาติในการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่คนไทยทุกช่วงวัยในรูปแบบต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนค่ะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568