เมื่อลมมังกรบูรพาพัดพาน ถึงคราวมิจฉาชีพแตกทัพเรือ

คอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิด | 25 กุมภาพันธ์ 2568

การจัดการภัยทุจริตทางการเงินได้ดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่ตัวเลขความเสียหายที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นที่กังวลต่อสังคมไทยในทุกภาคส่วน ผู้เขียนจึงขอมารายงานสถานการณ์ล่าสุดและแนวโน้มของการจัดการเรื่องดังกล่าว โดยขอนำมาเล่าเป็นนิทาน ผ่านการเทียบเคียงกับบทตอนหนึ่งในวรรณกรรมสามก๊กซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก คือ  "สงครามผาแดง" ที่ทัพโจโฉ 100 หมื่น พ่ายแพ้ต่อ ทัพพันธมิตร ซุนกวน-เล่าปี่ เพียง 5 หมื่น อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เกิดการสถาปนาแผ่นดินออกเป็นสามก๊กในภายหลัง

 

สถานการณ์ในวรรณกรรมมีอยู่ว่า ทัพทหารบกของโจโฉได้กรีธาทัพลงมาจากภาคเหนือ เหมือนกับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ตามแนวขอบชายแดนไทย และกระจายตัวโจมตีไปยังผู้ใช้บริการทางการเงินไทยอย่างถ้วนทั่ว ในการนี้ สี่ยอดกุนซือแห่งยุค ได้สำแดงแผนกลยุทธ์ จนนำมาสู่ชัยชนะดังนี้

1

มิติด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ การกำกับดูแล เปรียบกับการทำงานของ โลซก ด้านการคุมภาพรวมของแผนงานและประสานงานให้กองทัพพันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ทำงานร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้อย่างไร้รอยต่อ เหมือนกับการที่ผู้กำกับดูแลของไทยร่วมกันผลักดัน พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปิดช่องว่างในการทำงานในช่วงที่ผ่านมาให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การครอบคลุมไปถึงการจัดการเส้นเงินที่ไหลไปยังสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นทางออกเงินยอดนิยมของมิจฉาชีพถึง สามในสี่ ของมูลค่าความเสียหายที่พบ อำนาจตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้จะเอื้อให้เกิดการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องยกระดับความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่

หนี้

มิติด้านข้อมูลและเทคโนโลยี คล้ายกับกลศึกห่วงโซ่สัมพันธ์ของ บังทอง ที่ได้แฝงตัวลวงให้โจโฉผูกโยงกระบวนเรือมหาศาลเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาการเมาเรือและการไม่คุ้นชินกับยุทธนาวีของทหารดอนจากภาคเหนือ ซึ่งจอมทัพร้อยเล่ห์อย่างโจโฉเองก็เล็งเห็นถึงความเสี่ยงจากการถูกไฟเผา หากแต่มั่นใจในทิศทางลมว่าหาได้มีลมบูรพาในฤดูกาลนั้นไม่ เช่นเดียวกับ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่รวบรวมบัญชีม้าไว้เป็นจำนวนมาก กำลังย่ามใจว่า แม้ศูนย์ AOC 1441 จะบูรณาการข้อมูลระหว่างภาคการเงิน จนกระทั่งตรวจพบบัญชีที่มีเหตุอันควรสงสัยก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้มากถึง หนึ่งในสาม ของบัญชีม้าทั้งหมดแล้ว แต่ทางการคงตามมาปราบปรามไม่ได้ เพราะฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตั้งอยู่นอกประเทศไทย

 

มิติด้านความมั่นคงและปราบปราม ดุจดังบทบาทของผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ขงเบ้ง ที่อ่านขาดทั้งสภาพภูมิอากาศราวกับสามารถเสกเรียกลมบูรพามาได้ดั่งใจหมาย และตระหนักถึงจังหวะที่เหมาะสมแห่งการศึก สอดรับกับลมมังกรบูรพาที่อุบัติขึ้นเพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในระดับภูมิภาค ผ่านความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้การปราบปรามและการตัดแหล่งทรัพยากรสนับสนุนการกระทำผิดของมิจฉาชีพเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ

ม้า

มิติด้านการใช้งานและให้บริการ นับเป็นบทพระเอกของวรรณกรรมในตอนนี้ คือ หน้าที่ของ จิวยี่ แห่งศึกผาแดง ยอดกุนซือผู้เพียบพร้อมทั้งบุ๋นบู๊ ที่นอกจากคิดแผนกลยุทธ์แล้ว ต้องบัญชาการยุทธนาวีโดยเป็นผู้จุดไฟเผากองเรือโจโฉที่ถูกผูกห่วงโซ่ไว้ให้วอดวายภายใต้กระแสลมบูรพานั้น เช่นเดียวกับที่ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการเอง ต้องยกระดับการให้บริการและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้บริการ จึงจะทำให้การป้องกันภัยทุจริตการเงินครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นเหตุให้มิจฉาชีพต้องแตกทัพเรือไปอย่างย่อยยับ ในการนี้ ขอทิ้งท้ายบทความไว้ด้วยคำแถลงของแบงก์ชาติ เรื่อง ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้า และผลักดันแนวทางการร่วมรับผิดชอบ ดังนี้

 

แต่ละฝ่าย ทั้งผู้เสียหาย ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telco) รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ มีขอบเขตความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ... และหากทำไม่ได้ก็ควรที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยใช้มาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลขีดไว้อย่างชัดเจน


 

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **

ผู้เขียน

ดร. นครินทร์ อมเรศ
สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่  20 – 23 กุมภาพันธ์ 2568